วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553

ถุงยางอนามัยกับบริการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้เขียนเรื่องข่าวเกี่ยวกับถุงยางอนามัยออกไปพร้อมกับคำถาม 2 – 3 ข้อ ซึ่งมีผู้ให้ความคิดเห็นกลับมา 7 ความคิดเห็นด้วยกัน ผมขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย และหลังจากหายไปเดือนกว่า ผมมีข่าวสองชิ้นมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมครับ

ชิ้นแรก เป็นการรายงานข่าวเรื่อง ความสำเร็จของการรณรงค์ให้มีการตรวจเลือดเป็นล้าน ๆ คน ในช่วงเทศกาลวันเอดส์โลกปี 2552 ที่ผ่านมา
ชิ้นที่สอง เป็นการรายงานข่าวเรื่อง ความสำเร็จของการรณรงค์แจกกจ่ายถุงยางอนามัยในช่วงเทศกาลวันสากลเรื่องถุงยางอนามัยซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลวันแห่งความรักในเดือนกุมภาพันธ์ 2553

ข่าวทั้งสองชิ้นนี้ปล่อยมาจากแหล่งเดียวกันคือ มูลนิธิการดูแลรักษาสุขภาพด้านเอดส์ (AIDS Healthcare Foundation-AHF)

ชิ้นแรก เป็นเรื่องที่ AHF ได้ร่วมกับ องค์กรภาคี 592 องค์กร ใน 54 ประเทศทั่วโลก รณรงค์ให้มีการตรวจเลือดจำนวนล้าน ๆ คน “TESTING MILLIONS” ในช่วงเทศกาลรณรงค์วันเอดส์โลกปี 2552 โดยบอกว่าเป็นความสำเร็จที่ต้องจดจารเอาไว้เลยว่า มีผู้มารับการตรวจเลือดกว่า 4 ล้าน 2 แสนคน และทำให้พบผู้ที่มีเอชไอวีจำนวน 110,106 คน และได้ส่งคนเหล่านี้จำนวน 63,365 คน เข้ารับการรักษาได้ทันเวลา โดย AHF ได้แจกแจงตัวเลขของผู้มารับการตรวจ ผู้ที่ตรวจพบว่ามีเอชไอวี แยกตามประเทศต่าง ๆ จำนวน 13 ประเทศ แล้วยังคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ความชุกของการมีเอชไอวี เปรียบเทียบให้เห็นกับที่ UNAIDS และWHO ได้รายงานไว้เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมาด้วย

ทั้งนี้ AHF เคยทำการรณรงค์แบบเดียวกันนี้มาแล้วในเทศกาลวันเอดส์โลกปี 2551 โดยตอนนั้นมีการรณรงค์ให้คนทั่วโลกออกมาตรวจเลือดจำนวน 1 ล้านคน ซึ่งก็พูดเป็นนัย ๆ ว่า ประสบความสำเร็จค่อนข้างดี

ความสำเร็จ 2 ปีดังกล่าว ทำให้ประธานของ AHF ไมเคิล เวนสเติร์น (Michael Weinstein) ออกมาบอกว่า เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า มายาคติที่ว่า คนจะกลัว ไม่กล้าออกมาตรวจเลือด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง เพราะกลัวว่าจะถูกตีตรานั้นเป็นความเชื่อที่ผิด พร้อมกับอ้างต่อว่า คนทั่วโลกต้องการได้รับการตรวจเลือด โดยการจัดเป็นบริการขนาดใหญ่และฟรี ที่มีการให้บริการการปรึกษาก่อนการตรวจที่ทะยอยกันเข้ามาเป็นกลุ่ม ๆ มีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมหลาย ๆ แบบเพื่อใช้ในการตรวจเลือด และมีการส่งต่อผู้ที่พบว่ามีเชื้อเอชไอวีเข้ารับบริการดูแลหรือรักษาด้วยยาต้านไวรัสในทันที การจัดรูปแบบบริการแบบนี้จะทำให้ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นหนทางที่จะช่วยให้ผู้คนได้รับรู้สถานะการมีเอชไอวีและช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเอชไอวีได้

ชิ้นที่สอง เป็นเรื่องที่ AHF ได้ออกรายงานอีกชิ้นว่า ในช่วงวันที่ 13 – 14 กุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา AHF และภาคีร่วมงานทั่วโลก ได้รณรงค์แจกจ่ายถุงยางอนามัยฟรี พร้อมกับสร้างความตระหนักเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยออกไปใน 34 เมือง ของ 15 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อเป็นการร่วมรำลึกวันถุงยางอนามัยนานาชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ด้วย

การรณรงค์ครั้งนี้ ได้มีการแจกจ่ายถุงยางจำนวน 500,000 ชิ้นออกไปในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ช่วงดังกล่าว โดยส่วนใหญ่เป็นถุงยางของ AHF ภายใต้ยี่ห้อ “ถุงยางแห่งรัก” (LOVE Condom) ซึ่งมีคำขวัญที่ใช้สื่อสารว่า “รักตัวเอง รักคู่ของตน(ด้วย)”

ครั้งนี้ไมเคิล เวนสเติร์น (Michael Weinstein) บอกว่า ความสำเร็จในการจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสากลเรื่องถุงยางอนามัยของตนเองในทั่วโลกครั้งนี้ เป็นการบอกกล่าวกับโลกครั้งสำคัญว่า AHF มีความมุ่งมั่นในเรื่องการป้องกันขั้นพื้นฐานในระดับโลก และมองว่า ความขวัญของ AHF ที่ใช้ในการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยที่บอกว่า “รักตัวเอง รักคู่ของตน(ด้วย)” หมายถึงการป้องกันตนเอง ป้องกันคู่ โดยไปรับการตรวจเลือดหาเชื้อและได้รับการรักษาเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี” อันเป็นบอกถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่าง การใช้ถุงยางอนามัย การตรวจเลือด และการรักษา

เขายังหวังว่า ในวันสากลเรื่องถุงยางอนามัยในปีหน้า ซึ่งจะตรงกับวันวาเลนไทน์และเป็นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์อีกครั้ง เราจะเห็นความร่วมมือกันที่ยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิมของประเทศต่าง ๆ ในเรื่องนี้

เทอรี่ ฟอร์ด (Terri Ford) ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการรณรงค์นโยบายระดับโลกของ AHF บอกว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ (13 - 14 กพ.) ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ทั้งความรักและ “ถุงยางแห่งรัก” ฟุ้งกระจายอยู่ในสายลมที่พัดผ่านจากประเทศอินเดีย ไปยังอูกันดา ผ่านไปยังรัสเซีย กัมพูชา และลอสเองเจลิส (อเมริกา) โดยนอกจากจะมีการแจกจ่ายถุงยางอนามัยจำนวนหลายแสนชิ้นออกไปแล้ว ยังมีการจัดบริการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีฟรีในหลายพื้นที่พร้อมกันไปด้วย

เธอได้บอกต่ออีกว่ากิจกรรมครั้งนี้ของ “ถุงยางแห่งรัก” แสดงให้เห็นว่า วิธีการสร้างสรรทางการตลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ แพคเก็จที่มีสีสันของถุงยางซึ่งทำได้ในราคาไม่แพง บวกกับตัวถุงยางอนามัยที่มีประสิทธิภาพสูง จะช่วยให้เราดึงเอาเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยกลับมาสู่แถวหน้าของการป้องกันได้อีกครั้ง

เธอยังบอกอีกว่า ในช่วงเวลาที่เงินทุนสนับสนุนการทำงานด้านเอดส์ลดน้อยถอยลง ความคิดเรื่องความคุ้มค่าและประสิทธิภาพ (คุ้มทุน) ต้องมาเป็นอันดับต้น ๆ และไม่มีเครื่องมือการป้องกันเอชไอวีใด ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากไปกว่าถุงยางอนามัยราคาเพียง 5 เซ็นต์ (บาทกว่าๆ)

งานรณรงค์ของ AHF ครั้งนี้ จัดขึ้นในหลาย ๆ ที่ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ประเทศเม็กซิโก ทวีปแอฟริกา (เคนย่า รวันด้า แอฟริกาใต้ แซมเบีย) ประเทศรัสเซีย ประเทศยูเครน อีสโตเนีย และลิธัวเนีย โดยครั้งนี้ก็เช่นเดิมที่มีการให้รายละเอียดด้วยว่า มีการดำเนินกิจกรรมหลัก ๆ ในที่ใดบ้าง และมีการแจกจ่ายถุงยางอนามัยออกไปจำนวนกี่ชิ้น มีคนมารับการตรวจเลือดกี่คน และพบคนที่มีเอชไอวีกี่คน ซึ่งผมที่สนใจรายละเอียดของข่าวทั้งสองชิ้นนี้ สามารถติดตามได้ที่ http://www.aidshealth.org/

ผมเองมีข้อสังเกตในเรื่องนี้อยู่บ้างว่า

ข่าวประชาสัมพันธ์ของ AHF สองชิ้นนี้ ดูเหมือนจะเน้นการอธิบายผลสำเร็จเรื่อง การรณรงค์ให้มีการตรวจเลือด โดยมุ่งแสดงผลว่ามีจำนวนผู้มารับบริการตรวจเลือดเป็นจำนวนมากเป็นหลัก ในขณะที่จำนวนถุงยางอนามัยที่แจกจ่ายออกไปเป็นเพียงเรื่องรองลงมา ทำให้เห็นได้ว่า

การรณรงค์ให้มีการตรวจเลือด ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเครื่องมือ (ทางการแพทย์) ในการค้นหาผู้ที่มีเอชไอวีเพื่อทำการป้องกันการรับ-ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีเพิ่ม และเพื่อทำการรักษา โดยเรื่องนี้กลายเป็นวาระเรื่องเอดส์ที่สำคัญทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศด้วย

เห็นได้จากข่าวการรณรงค์ให้คนไปตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีกันอย่างกว้างขวางในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีตัวอย่างการออกมาเสนอข่าวของ AHF ซึ่งสิ่งที่แฝงอยู่ในรายงานข่าวแบบนี้ ที่นอกจากเป็นเรื่องความสำเร็จในเชิงจำนวนถุงยางอนามัยที่แจกจ่ายออกไป และความสำเร็จในเชิงจำนวนของผู้ที่มารับการตรวจเลือดหาเชื้อแล้วก็คือ การยืนยัน แนวคิดที่ว่า การตรวจเลือดจำนวนมาก จะทำให้ค้นพบผู้ที่มีเอชไอวีได้เร็วและมีจำนวนมากด้วยเช่นกัน โดยมองว่ามีหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าตนเองมีเชื้อเอชไอวีอยู่ และจะเป็นอันตรายในการทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเอชไอวี ซึ่งแนวคิดนี้ใช้กันทั่วไป รวมทั้งในประเทศไทยด้วย (คนที่สนใจเพิ่มเติม เตรียมหาอ่านการวิเคราะห์การใช้แนวคิดนี้ในรูปนโยบาย PICT ได้ในรายงานวิเคราะห์นโยบายฯ ของ กพอ. ได้ที่เว็บไซด์นี้ เร็ว ๆ นี้)

น่าเสียดายที่ข่าวไม่ได้บอกต่อว่า

ในการเชิญชวนคนมาตรวจเลือดจำนวนมาก ๆ มองเห็นจากภาพถ่ายที่ผู้คนเข้าแถวเป็นแนวยาวเข้าไปในเต็นท์แล้วให้สงสัยว่า
  1. จะมีการจัดบริการให้การปรึกษาทั้งก่อนและหลังการตรวจเลือดด้วยหรือไม่
  2. แล้วเขาดูแลเรื่องความเป็นส่วนตัวกันอย่างไร เรื่องการดูแลรักษาความลับเรื่องผลการตรวจเลือดล่ะ ทำกันอย่างไรน่ะ ?
  3. เมื่อพบผู้ที่มีเอชไอวีแล้ว แม้จะบอกว่ามีการส่งต่อเข้าระบบเพื่อรับการรักษาต่อไปนั้น ได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องการตัดสินใจและการวางแผนการรักษาอย่างไรบ้าง ?
  4. เขาทำอย่างไรต่อกับคนที่มีผลเลือดแสดงว่ายังไม่มีเชื้อเอชไอวี ?
  5. ในเรื่องการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย เขาแจกถุงยางเฉย ๆ หรือว่าทำอย่างไรกับมันบ้าง ? มีการให้ความรู้ พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการใช้หรือไม่ใช้ด้วยหรือไม่ ?
  6. แล้วคนมองหรือเข้าใจเรื่องถุงยางอนามัยที่เขาแจกกันอย่างไรบ้าง มองเป็นเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการป้องกันโรคอย่างเดียว ? หรือมองเป็นอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ?
  7. จะมีคนที่คิดว่า ถุงยาง..เอาไว้ให้สำหรับคนที่มีเอชไอวีใช้เท่านั้นหรือไม่ ?
  8. จะมีคนที่พบว่าตนเองยังไม่มีเอชไอวีแล้วจะคิดว่า เรายังไม่เป็น...ก็ไม่ต้องใช้อยู่บ้างไหม ?


เพราะแม้ว่าถุงยางมีประสิทธิภาพในการป้องกันการรับ-ถ่ายทอดเชื้อได้จริง แต่ว่ามันไม่ได้ง่ายเพียงแค่ว่าแจกจ่ายออกไปแล้วคนจะใช้


เพราะการใช้หรือไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ได้มีเพียงมิติของการป้องกันการรับ-ถ่ายทอดเชื้อเพียงมิติเดียว แต่ยังมีมิติอื่นๆ อีกด้วย พิจารณาจาก คำพูดรณรงค์ของผู้หญิงหลายคนเรื่องไมโครบิไซด์ในเวทีประชุมเอดส์นานาชาติหลายครั้งที่ผ่านมาว่า “ไมโครบิไซด์เป็นเครื่องมือในการป้องกันตัวเองของผู้หญิง ที่ผู้หญิงสามารถควบคุมและมีอำนาจในการตัดสินใจได้เอง มากกว่าถุงยางอนามัยซึ่งอยู่ในอำนาจการตัดสินใจของผู้ชายมาโดยตลอด”

ประเด็นเรื่องถุงยางอนามัยจึงอยู่ที่ว่า การเลือกใช้/ไม่ใช้อะไรในการมีเพศสัมพันธ์ยังมีมิติของ “อำนาจระหว่างเพศ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และยังเกี่ยวโยงกับเรื่อง “เพศวิถีที่แตกต่างหลากหลาย” อีกด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องการณรงค์ให้คนไปตรวจเลือดนั้น เป้าหมายของการจัดบริการตรวจเลือดยู่ที่เรื่องใดกันแน่ เป็นการทำเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการค้นหาผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี หรือทำเพื่อสร้างความตระหนักให้คนลดภาวะความเปราะบาง ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงในการรับ-ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ของทั้งคนที่มีเอชไอวีและยังไม่มีเอชไอวี หรือว่าจะทำพร้อม ๆ กันไปทั้งสองอย่าง

เราอยากเห็นการรณรงค์ให้คนมาคนมาเข้าแถวตรวจเลือดกันแบบนี้ในประเทศไทยจริง ๆ หรือ ?