วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ถุงยางอนามัยกับวันวาเลนไทน์ปี 2553

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้อ่านข่าวความเคลื่อนไหวชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการจัดเทศกาลคานิวัลอันโด่งดังของประเทศบราซิล โดยมีการพาดหัวข่าวว่า

บราซิลแจกถุงยางอนามัย 55 ล้านชิ้นในเทศกาลคานิวัล

แล้วมีการขยายความว่า ริโอ เดอ จาเนโร – เจ้าหน้าที่สุขภาพชาวบราซิล เริ่มต้นการรณรงค์สร้างความตระหนักเรื่องเอดส์ และจะดำเนินการแจกจ่ายถุงยางอนามัยจำนวน 55 ล้านชิ้นในช่วงเทศกาลคานิวัล

โดยโฆษณาใหม่ในรายการทางทีวี จะมีการพูดถึงถุงยางอนามัยให้ชัด ๆ เพื่อเตือนให้วัยรุ่นพกพาถุงยางอนามัยไปด้วยเมื่อออกไปร่วมงานปาร์ตี้

และนายโฮเซ่ เท็มโปรัล รัฐมนตรีสาธารณสุขของบราซิล ได้ออกมาพูดว่า การรณรงค์ในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่การให้การศึกษาแก่วัยรุ่นหญิงและเกย์ให้ใช้เครื่องมือการป้องกัน โดยมีสโลแกนว่า

“ถุงยางอนามัย (ไม่ว่าจะเพื่อ) ความรัก ความเมตตา หรือแม้เพียงแค่เซ็กส์ ก็ให้ใช้มันทุกครั้ง”

แม้ว่าในปีนี้รัฐบาลจะไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะแจกจ่ายถุงยางอนามัยออกไปจำนวนเท่าไหร แต่ปีที่แล้วรัฐบาลได้แจกจ่ายถุงยางอนามัยฟรีออกไปเกือบ 500 ล้านชิ้น ทั่วประเทศบราซิล หรือคิดเฉลี่ยได้ว่า ประชาชนบราซิลจะได้รับถุงยางเฉลี่ย 2.6 ชิ้นต่อคน

สำหรับในบ้านเรา ในช่วงวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ผมได้ยินผู้ประกาศข่าวทางสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งรายงานว่า “มีเสียงแสดงความไม่เห็นด้วยกับ การรณรงค์ของรัฐบาลในวันวาเลนไทน์ แล้วก็อ้างถึง คน 2 คน โดยนักข่าวเรียกคนแรกว่า “เจ้เบียบ” (คุณระเบียบรัตน์ พงค์พานิช) และ อ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์จากจุฬาฯ” ว่าทั้งสองให้ความคิดเห็นว่า

* การณรงค์มุ่งเน้นไปในเรื่องเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นมากเกินไป
* การรณรงค์มุ่งเน้นไปที่การแจกจ่ายถุงยางอนามัย

พร้อมกับบอกว่ามีข้อเสนอว่า แทนที่จะมุ่งไปในทิศทางดังกล่าว รัฐบาลน่าจะให้ความสำคัญกับเรื่อง
* การรณรงค์เรื่องความรักของครอบครัว เป็นเรื่องของพ่อ แม่ ลูก ก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กว้างไปกว่าเรื่องเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น และ
* แทนที่จะมุ่งเน้นเรื่องการแจกถุงยางอนามัย ก็น่าจะส่งเสริมเรื่อง การรักนวลสงวนตัวดีกว่า
ผู้ประกาศข่าวช่องนั้น ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ใคร/คนใดวิจารณ์หรือให้ข้อเสนอใด เพราะเป็นการพูดรวม ๆ ไป

เนื้อข่าวมีแค่นั้นเองครับ อีกทั้งยังเป็นเวลาสั้น ๆ เพียง 2 – 3 นาที ที่ผู้ประกาศข่าวพูดถึงเรื่องนี้ก่อนไปพูดเรื่องอื่นต่อ แต่ผมเอาเรื่องนี้มาคิดต่อครับว่า

การเสนอข่าวแบบนี้ อาจเป็นอคติของการทำข่าว ที่พยายามสร้าง คู่ความคิดเห็นตรงข้าม โดยอ้างหลักการว่า ต้องมีมุมมองข่าวให้รอบด้าน แต่บ่อยครั้งคำว่ารอบด้าน มักจะเป็น ความคิดเห็นตรงกันข้าม แบบขัดแย้งกันด้วย ซึ่งส่งผลกระทบให้สังคมไม่ได้เรียนรู้อะไรมากไปกว่า ต้องเลือกข้าง ว่าชอบหรือไม่ชอบความคิดเห็นข้างใด

แต่หากไม่ใช่อคติของผู้ประกาศข่าว ก็เป็นไปได้ว่า...
สังคมของเรายังมองเรื่องเพศแบบแยกข้าง แยกส่วนจากกัน แล้วก็พยายามเสนอความคิดเห็นของตนเองเป็นหลัก อยู่กันคนละส่วน คนละพื้นที่ คนละมุม โดยไม่มีการสร้างพื้นที่ตรงกลางในเรื่องเพศขึ้นมาเลย ราวกับว่า ต้องเลือกเอาว่าจะเสนอเรื่อง เพศสัมพันธ์กับถุงยาง หรือว่า เสนอเรื่อง ความรักบริสุทธิ์กับการรักนวลสงวนตัว (ของเด็กผู้หญิงด้วยเท่านั้น)

เรามีพื้นที่ตรงกลางจริง ๆ ไหมครับ
เรามีทางเลือกเรื่องเพศสัมพันธ์ที่กว้างขวาง จริง ๆ หรือเปล่าครับ และ
เราควรแจกจ่ายถุงยางอนามัยในสังคมดีไหมครับ

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เรื่องเล่าของหญิงสาวกับโศกนาฏกรรมสงครามผ่านเม็ดทราย

Kseniya Simonova หญิงสาววัย 24 ปีจากประเทศยูเครน ผู้เล่าเรื่องของหญิงสาวในโศกนาฎกรรมสงครามผ่านเม็ดทราย

ย้อนไปในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนาซีเยอรมันเริ่มก่อไฟสงครามรุกรานไปทั่วทวีปยุโรป ชีวิตที่สงบสุขของผู้คนก็ถูกทำลายลง

แม้ในห้วงยามของความสวยงาม เป็นค่ำคืนที่ฟากฟ้าสุกพราวด้วยแสงแห่งดวงดาว เมื่อฝูงบินรบของผู้รุกรานปรากฎตัวเหนือท้องฟ้า หญิงสาวกับชายหนุ่มคนรักก็พลันต้องถูกพรากจากกันไกล

ความหวั่นไหว ความกังวลใจกับการสูญเสียจากการพลัดพลาก ทำให้หญิงสาวตกอยู่ในห้วงทุกข์ ใบหน้านองน้ำตา

ใบหน้าของเธอก็กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุขอีกครั้ง เมื่อเธอรับรู้ถึงชีวิตใหม่ของทารกน้อยในตัวเธอที่กำลังเติบโต

แม้เธอได้ชีวิตใหม่เพิ่มเข้ามา แต่เธอก็ต้องสูญเสียอีกชีวิตที่ผูกพันธ์มาร่วมกัน ไปพร้อม ๆ กับความโหดร้ายของสงคราม

หญิงสาวที่เพิ่งพบความสุขใจ พลิกผันกลับกลายเป็นหญิงหม้าย เมื่อมีจดหมายแจ้งข่าวร้ายจากสงคราม ใบหน้าเปี่ยมสุข พลันเปลี่ยนไปเป็นอมทุกข์ เศร้าใจ

ที่หน้าอนุสาวรีย์ทหารนิรนาม เธอสิ้นแรงใจ คุกเข่า นั่งร้องไห้ ร่วมชะตากรรมกับหญิงหม้ายอีกหลายนาง เมื่อผู้ชายของเธอเหล่านั้นจากไปกับไฟสงคราม

ความเกลียดชังยังคงพัดโหมกระพือ ไฟสงครามยังคงเผาผลาญชีวิต โศกนาฏกรรมของหญิงสาวยังดำเนินต่อไปมิรู้จบสิ้น

ที่ริมหน้าต่างบ้านอีกหลังในยูเครน หญิงสาวอีกคน พร้อมลูกน้อย กำลังโบกมืออำลา สามีผู้ที่กำลังจะจากไปสู่สงคราม

เป็นความพลัดพรากและการสูญเสีย ที่หมุนเวียนราวกับไม่มีวันจบสิ้น นานเท่าใดหนอ มนุษย์จึงจะได้เรียนรู้

ประชาชนชาวยูเครน เรียกสงครามครั้งนั้นว่า The Great Patriotic War เป็นสงครามที่พรากเอาชีวิตชาวยูเครนไปกว่า 8 – 11 ล้านชีวิต ซึ่งสูงถึง 1 ใน 4 ของประชากรยูเครนทั้งหมด 42 ล้านคน ชมเรื่องเล่าเรื่องนี้ได้ที่นี่
http://www.youtube.com/watch_popup?v=vOhf3OvRXKg