วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ทัศน(อ)คติเรื่องเพศ และเอดส์ ใน “สื่อ” (ตอนที่ 1)


ก่อนที่ผมจะเขียนถึงเรื่องสื่อรณรงค์ด้านเอดส์ที่เป็นประเด็นความเคลื่อนไหวซึ่งมีการแลกเปลี่ยนผ่านเว็บ www.aids-cpp.net ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ ผมอยากจะพูดถึงเรื่องสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ 2 ชิ้น ที่เคยเห็นมา ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นภาพสื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ 2 นี้บ้างไม่มากก็น้อย และไม่แน่ว่าอาจเกิดความซาบซึ้งใจตามไปกับโฆษณาชิ้นดังกล่าวนี้ด้วย

ชิ้นแรกคือ โฆษณาของปตท. ที่ได้พยายามสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบด้านพลังงานเพื่อการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด และภาพโฆษณาตอนที่ผมเห็นนี้มีชื่อตัวละครคนเดียวที่ถูกเอ่ยถึงคือ “พี่สมพงษ์” (คนละคนกับ “สมพงษ์” ที่ทำงานด้านเอดส์อยู่ที่ UNAIDS น่ะครับ)

โฆษณาตอนนี้เป็นภาพบรรยากาศในห้องประชุม ที่ฉายภาพให้เห็น “ชายหนุ่มวัยทำงาน” จำนวนหนึ่งพร้อมประกายมุ่งมั่นในแววตานั่งรวมกันอยู่ และเห็น พี่สมพงษ์ “ชายวัยเกษียณ” ที่ยังดูดีพร้อมแววตาอ่อนโยน กำลังพูดกล่าวคำอำลา

“ผมไม่มีอะไรจะพูดมากนัก....เพียงแต่ต้องการจะฝาก...”

พลันกล้องก็ตัดภาพไปยังชายหนุ่มคนหนึ่งที่ตอนแรกแสดงท่าทีไม่ค่อยสนใจ แต่เมื่อได้ยินพี่สมพงษ์พูดก็เงยหน้าขึ้นมองด้วยแววตาเปลี่ยนไป ประกายตาของเขาฉายแววของความมุ่งมั่นที่จะสานต่อหน้าที่และความรับผิดชอบในภาระกิจที่ “ผู้ชายรุ่นก่อนหน้านี้” ได้สร้างไว้ เพื่อพัฒนาพลังงานและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เป็นภาระกิจของ “ลูกผู้ชาย” อย่างแท้จริง

ผมเขียนว่า ภาระกิจด้านพลังงานเป็นอนาคตของประเทศ และเป็นภาระกิจของ “ลูกผู้ชาย” อย่างแท้จริง ก็เพราะว่า ในภาพโฆษณาตอนนี้ ไม่มี “ลูกผู้หญิง” ปรากฎตัวอยู่แม้แต่เพียงคนเดียว แม้ว่าในภาพโฆษณาตอนก่อนๆ ของ ปตท. จะมีภาพ “ผู้หญิง” ปรากฎอยู่ด้วย แต่ก็จะอยู่ในภาพของ “เมีย” และ “แม่” ที่ประคองลูกน้อยไว้ และกำลังรอคอย “ผู้ชาย” ที่เป็น “ผัว” และ “พ่อของลูก” ซึ่งกำลังปฏิบัติภาระกิจ “ลูกผู้ชาย” เพื่อพัฒนาพลังงานและความมั่นคงของชาติและครอบครัว

ผมเห็นว่า “สื่อ” ในชุดโฆษณาของ ปตท. นั้น มี “เนื้อสาร” ชัดเจนทุกตอน ที่สะท้อนวิธีคิดในการมองเรื่อง “เพศ” “ความเป็นเพศชาย” “ความเป็นเพศหญิง” และแสดงให้เห็นทัศนะของเขาในการเลือกผูกโยงเรื่อง “บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบทางเพศ” และ “ความเป็นลูกผู้ชาย” เข้ากับเรื่องพลังงานและความมั่นคง ถามว่ามีอคติทางเพศแฝงอยู่หรือไม่ คงต้องแลกเปลี่ยนกันดูละครับ

ชิ้นที่สองคือ โฆษณาของบริษัทไทยประกันชีวิต ในตอนที่ใช้เพลงประกอบชื่อดังคือ “Que Sera Sera (Whatever will be, will be)” ทำนองว่า อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด ที่เมื่อชวนคุยกัน อ้ายปั๋นมอยบ้านใต้ ก็สบถออกมาทันทีว่า “ถ้าอะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด แล้วจะซื้อประกันชีวิตของมันไปทำไม (ว่ะ)”

โฆษณาตอนนี้ เป็นอีกตัวหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทประกันชีวิตและเอเยนซีผู้ถ่ายทำและผลิตโฆษณาชิ้นนี้ ผู้คนที่ได้ดู รับชมโฆษณาทางทีวี แสดงความรู้สึกประทับใจในความรัก ความซาบซึ้ง อบอุ่นใจ และพากันกล่าวถึงโฆษณาชิ้นนี้กันมาก

โฆษณานำเอาภาพเด็กเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่กำลังร่วมกันร้องเพลง “Que Sera Sera” ต่อหน้าผู้ปกครอง กล้องเบนฉายภาพให้เห็นว่าในบรรดาเด็ก ๆ กลุ่มนี้ มีเด็กพิการหลายรูปแบบจำนวนหนึ่งปะปนร้องเพลงอยู่ และด้วยความน่ารัก สดใส ความตั้งใจ และเสียงร้องของเด็ก ๆ กับทำนองเพลงชื่อดังที่ฟังง่ายเข้าหู ก็ทำให้เราเกิดความความสุข ความอิ่มเอิบใจ

ความรู้สึกยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะภาพโฆษณายังได้เติมความประทับใจและซาบซึ้งใจเพิ่มเข้ามาอีก เมื่อกล้องเบนฉายภาพให้เห็นบรรดาผู้ใหญ่ที่กำลังนั่งชมและรับฟังการร้องเพลงของเด็ก ๆ กลุ่มนี้อยู่ด้วย กล้องทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง ด้วยการฉายภาพใกล้เข้าไปให้เห็นสีหน้าของผู้ปกครองบางคนที่แสดงความซาบซึ้ง ตื้นตันใจ หยาดน้ำตาที่เอ่อคลอเบ้าตาไหวระริก ส่งประกายแห่งความรักที่ปริ่มคลอนัยย์ตา พร้อมใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มแห่งความผูกพันธ์ ผมเองก็รับรู้และซาบซึ้งใจเช่นเดียวกับทุกคนในทันทีที่เห็นภาพ เพียงแต่ผมมีความรู้สึกแปลกใจอยู่แว๊บเดียวเท่านั้น...

ผมตั้งใจดูโฆษณาชิ้นนี้อีกครั้งเมื่อมีโอกาส และผมก็เห็นสิ่งที่รู้สึกในแว๊บแรกนั้นอยู่จริงๆ

ในบรรดาผู้ปกครองที่นั่งฟังเด็ก ๆ ร้องเพลงอยู่นั้น แทบจะทั้งหมดเป็น “ผู้หญิง” ผมนั่งจับจ้องอย่างตั้งใจและพยายามนับ แต่ก็เห็น “ผู้ชาย” ปรากฎอยู่เพียงแว็บ ๆ ในจังหวะที่กล้องเบนฉายภาพแบบผ่าน ๆ ซึ่งผมคาดว่าเป็นใบหน้า “ผู้ชาย” แบบครึ่งหน้าอยู่หนึ่งคนนั่งปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ปกครอง และที่เห็นแบบเต็มหน้า น่าจะเป็น “ผู้ชาย” ที่เป็นช่างควบคุมเสียง ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับเด็ก ๆ กลุ่มนี้เลย

ผมเห็นว่า “สื่อ” โฆษณาของบริษัทประกันชีวิตแห่งนี้ มี “เนื้อสาร” ชัดเจนที่ต้องการสื่อคือ “ความรัก ความอบอุ่นของแม่” ที่จะเป็นหลักประกันในชีวิตให้กับลูกน้อย

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกก็ตาม “ผู้หญิง” ที่เป็น “แม่” จะปกป้อง ดูแล และยืนอยู่เคียงข้างลูกเสมอไป สะท้อนวิธีคิดในการมองเรื่อง “เพศ” “ความเป็นเพศหญิง” และแสดงให้เห็นทัศนะของโฆษณาในการเลือกผูกโยง “เนื้อสาร” เรื่อง “บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบทางเพศของผู้หญิง” เข้ากับเรื่องครอบครัวและการเลี้ยงดูลูก อันเป็นภาระกิจของ “ความเป็นลูกผู้หญิง” เสมอมา

โฆษณาทั้งสองชิ้น เป็น “สื่อ” และมี “เนื้อสาร” ที่มีวัตถุประสงค์ในการสื่อสารที่ชัดเจน แถมเลือกข้าง เลือกเพศ ใส่เข้าไว้ในโฆษณากันแบบที่ไม่ทันสังเกตก็จะมองไม่เห็น เพราะเราเองก็รู้สึกคุ้นเคยกับบทบาท หน้าที่ทางเพศในแบบนั้น ๆ มาโดยตลอด

ถามว่า เอเยนซี่ผู้ผลิต บริษัทผู้จ้างถ่ายทำ มีอคติทางเพศแฝงอยู่หรือไม่ และสังคมผู้รับสาร ที่รู้สึกทราบซึ้งไปกับ “เนื้อสาร” และ “ภาพสื่อ” ที่สื่อสารออกมา จะรับรู้ เห็นด้วย หรือเห็นแตกต่างกันไป ก็คงต้องแลกเปลี่ยนกันดูอีกละครับ

เป็นเพราะ “สื่อ” และ “สาร” ที่สื่อสารกันในหลาย ๆ รูปแบบนี้ สะท้อนทัศนคติของผู้ผลิต และได้สร้าง ได้ถ่ายทอดหรือสืบทอดความคิด ความเชื่อของสังคมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังนั้น สื่อที่ใช้ในการรณรงค์จึงมีพลังและแฝงอคติ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้พลังและอคตินั้น ไปในทางด้านลบหรือด้านบวก และทัศนคติของผู้ผลิตสื่อกับและทัศนคติของสังคมก็เกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน ผมจึงคิดว่า เราควรที่จะร่วมกันตั้งคำถาม พูดคุยกันเรื่องสื่อที่เราเห็นและรับรู้ ว่ามีทัศน(อ)คติ เรื่องเพศ แฝงไว้ใน “สื่อและสาร” นั้น ๆ อย่างไรบ้าง รวมทั้งจะส่งผลกระทบให้เกิดขึ้นเช่นไร

วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553

ถุงยางอนามัยกับบริการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้เขียนเรื่องข่าวเกี่ยวกับถุงยางอนามัยออกไปพร้อมกับคำถาม 2 – 3 ข้อ ซึ่งมีผู้ให้ความคิดเห็นกลับมา 7 ความคิดเห็นด้วยกัน ผมขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย และหลังจากหายไปเดือนกว่า ผมมีข่าวสองชิ้นมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมครับ

ชิ้นแรก เป็นการรายงานข่าวเรื่อง ความสำเร็จของการรณรงค์ให้มีการตรวจเลือดเป็นล้าน ๆ คน ในช่วงเทศกาลวันเอดส์โลกปี 2552 ที่ผ่านมา
ชิ้นที่สอง เป็นการรายงานข่าวเรื่อง ความสำเร็จของการรณรงค์แจกกจ่ายถุงยางอนามัยในช่วงเทศกาลวันสากลเรื่องถุงยางอนามัยซึ่งตรงกับช่วงเทศกาลวันแห่งความรักในเดือนกุมภาพันธ์ 2553

ข่าวทั้งสองชิ้นนี้ปล่อยมาจากแหล่งเดียวกันคือ มูลนิธิการดูแลรักษาสุขภาพด้านเอดส์ (AIDS Healthcare Foundation-AHF)

ชิ้นแรก เป็นเรื่องที่ AHF ได้ร่วมกับ องค์กรภาคี 592 องค์กร ใน 54 ประเทศทั่วโลก รณรงค์ให้มีการตรวจเลือดจำนวนล้าน ๆ คน “TESTING MILLIONS” ในช่วงเทศกาลรณรงค์วันเอดส์โลกปี 2552 โดยบอกว่าเป็นความสำเร็จที่ต้องจดจารเอาไว้เลยว่า มีผู้มารับการตรวจเลือดกว่า 4 ล้าน 2 แสนคน และทำให้พบผู้ที่มีเอชไอวีจำนวน 110,106 คน และได้ส่งคนเหล่านี้จำนวน 63,365 คน เข้ารับการรักษาได้ทันเวลา โดย AHF ได้แจกแจงตัวเลขของผู้มารับการตรวจ ผู้ที่ตรวจพบว่ามีเอชไอวี แยกตามประเทศต่าง ๆ จำนวน 13 ประเทศ แล้วยังคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ความชุกของการมีเอชไอวี เปรียบเทียบให้เห็นกับที่ UNAIDS และWHO ได้รายงานไว้เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมาด้วย

ทั้งนี้ AHF เคยทำการรณรงค์แบบเดียวกันนี้มาแล้วในเทศกาลวันเอดส์โลกปี 2551 โดยตอนนั้นมีการรณรงค์ให้คนทั่วโลกออกมาตรวจเลือดจำนวน 1 ล้านคน ซึ่งก็พูดเป็นนัย ๆ ว่า ประสบความสำเร็จค่อนข้างดี

ความสำเร็จ 2 ปีดังกล่าว ทำให้ประธานของ AHF ไมเคิล เวนสเติร์น (Michael Weinstein) ออกมาบอกว่า เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า มายาคติที่ว่า คนจะกลัว ไม่กล้าออกมาตรวจเลือด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง เพราะกลัวว่าจะถูกตีตรานั้นเป็นความเชื่อที่ผิด พร้อมกับอ้างต่อว่า คนทั่วโลกต้องการได้รับการตรวจเลือด โดยการจัดเป็นบริการขนาดใหญ่และฟรี ที่มีการให้บริการการปรึกษาก่อนการตรวจที่ทะยอยกันเข้ามาเป็นกลุ่ม ๆ มีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมหลาย ๆ แบบเพื่อใช้ในการตรวจเลือด และมีการส่งต่อผู้ที่พบว่ามีเชื้อเอชไอวีเข้ารับบริการดูแลหรือรักษาด้วยยาต้านไวรัสในทันที การจัดรูปแบบบริการแบบนี้จะทำให้ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นหนทางที่จะช่วยให้ผู้คนได้รับรู้สถานะการมีเอชไอวีและช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเอชไอวีได้

ชิ้นที่สอง เป็นเรื่องที่ AHF ได้ออกรายงานอีกชิ้นว่า ในช่วงวันที่ 13 – 14 กุมภาพันธุ์ที่ผ่านมา AHF และภาคีร่วมงานทั่วโลก ได้รณรงค์แจกจ่ายถุงยางอนามัยฟรี พร้อมกับสร้างความตระหนักเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยออกไปใน 34 เมือง ของ 15 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อเป็นการร่วมรำลึกวันถุงยางอนามัยนานาชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ด้วย

การรณรงค์ครั้งนี้ ได้มีการแจกจ่ายถุงยางจำนวน 500,000 ชิ้นออกไปในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ช่วงดังกล่าว โดยส่วนใหญ่เป็นถุงยางของ AHF ภายใต้ยี่ห้อ “ถุงยางแห่งรัก” (LOVE Condom) ซึ่งมีคำขวัญที่ใช้สื่อสารว่า “รักตัวเอง รักคู่ของตน(ด้วย)”

ครั้งนี้ไมเคิล เวนสเติร์น (Michael Weinstein) บอกว่า ความสำเร็จในการจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันสากลเรื่องถุงยางอนามัยของตนเองในทั่วโลกครั้งนี้ เป็นการบอกกล่าวกับโลกครั้งสำคัญว่า AHF มีความมุ่งมั่นในเรื่องการป้องกันขั้นพื้นฐานในระดับโลก และมองว่า ความขวัญของ AHF ที่ใช้ในการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยที่บอกว่า “รักตัวเอง รักคู่ของตน(ด้วย)” หมายถึงการป้องกันตนเอง ป้องกันคู่ โดยไปรับการตรวจเลือดหาเชื้อและได้รับการรักษาเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี” อันเป็นบอกถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่าง การใช้ถุงยางอนามัย การตรวจเลือด และการรักษา

เขายังหวังว่า ในวันสากลเรื่องถุงยางอนามัยในปีหน้า ซึ่งจะตรงกับวันวาเลนไทน์และเป็นช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์อีกครั้ง เราจะเห็นความร่วมมือกันที่ยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิมของประเทศต่าง ๆ ในเรื่องนี้

เทอรี่ ฟอร์ด (Terri Ford) ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการรณรงค์นโยบายระดับโลกของ AHF บอกว่า ในช่วงสุดสัปดาห์ (13 - 14 กพ.) ที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่ทั้งความรักและ “ถุงยางแห่งรัก” ฟุ้งกระจายอยู่ในสายลมที่พัดผ่านจากประเทศอินเดีย ไปยังอูกันดา ผ่านไปยังรัสเซีย กัมพูชา และลอสเองเจลิส (อเมริกา) โดยนอกจากจะมีการแจกจ่ายถุงยางอนามัยจำนวนหลายแสนชิ้นออกไปแล้ว ยังมีการจัดบริการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีฟรีในหลายพื้นที่พร้อมกันไปด้วย

เธอได้บอกต่ออีกว่ากิจกรรมครั้งนี้ของ “ถุงยางแห่งรัก” แสดงให้เห็นว่า วิธีการสร้างสรรทางการตลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ แพคเก็จที่มีสีสันของถุงยางซึ่งทำได้ในราคาไม่แพง บวกกับตัวถุงยางอนามัยที่มีประสิทธิภาพสูง จะช่วยให้เราดึงเอาเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยกลับมาสู่แถวหน้าของการป้องกันได้อีกครั้ง

เธอยังบอกอีกว่า ในช่วงเวลาที่เงินทุนสนับสนุนการทำงานด้านเอดส์ลดน้อยถอยลง ความคิดเรื่องความคุ้มค่าและประสิทธิภาพ (คุ้มทุน) ต้องมาเป็นอันดับต้น ๆ และไม่มีเครื่องมือการป้องกันเอชไอวีใด ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากไปกว่าถุงยางอนามัยราคาเพียง 5 เซ็นต์ (บาทกว่าๆ)

งานรณรงค์ของ AHF ครั้งนี้ จัดขึ้นในหลาย ๆ ที่ ทั้งในสหรัฐอเมริกา ประเทศเม็กซิโก ทวีปแอฟริกา (เคนย่า รวันด้า แอฟริกาใต้ แซมเบีย) ประเทศรัสเซีย ประเทศยูเครน อีสโตเนีย และลิธัวเนีย โดยครั้งนี้ก็เช่นเดิมที่มีการให้รายละเอียดด้วยว่า มีการดำเนินกิจกรรมหลัก ๆ ในที่ใดบ้าง และมีการแจกจ่ายถุงยางอนามัยออกไปจำนวนกี่ชิ้น มีคนมารับการตรวจเลือดกี่คน และพบคนที่มีเอชไอวีกี่คน ซึ่งผมที่สนใจรายละเอียดของข่าวทั้งสองชิ้นนี้ สามารถติดตามได้ที่ http://www.aidshealth.org/

ผมเองมีข้อสังเกตในเรื่องนี้อยู่บ้างว่า

ข่าวประชาสัมพันธ์ของ AHF สองชิ้นนี้ ดูเหมือนจะเน้นการอธิบายผลสำเร็จเรื่อง การรณรงค์ให้มีการตรวจเลือด โดยมุ่งแสดงผลว่ามีจำนวนผู้มารับบริการตรวจเลือดเป็นจำนวนมากเป็นหลัก ในขณะที่จำนวนถุงยางอนามัยที่แจกจ่ายออกไปเป็นเพียงเรื่องรองลงมา ทำให้เห็นได้ว่า

การรณรงค์ให้มีการตรวจเลือด ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเครื่องมือ (ทางการแพทย์) ในการค้นหาผู้ที่มีเอชไอวีเพื่อทำการป้องกันการรับ-ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีเพิ่ม และเพื่อทำการรักษา โดยเรื่องนี้กลายเป็นวาระเรื่องเอดส์ที่สำคัญทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศด้วย

เห็นได้จากข่าวการรณรงค์ให้คนไปตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีกันอย่างกว้างขวางในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีตัวอย่างการออกมาเสนอข่าวของ AHF ซึ่งสิ่งที่แฝงอยู่ในรายงานข่าวแบบนี้ ที่นอกจากเป็นเรื่องความสำเร็จในเชิงจำนวนถุงยางอนามัยที่แจกจ่ายออกไป และความสำเร็จในเชิงจำนวนของผู้ที่มารับการตรวจเลือดหาเชื้อแล้วก็คือ การยืนยัน แนวคิดที่ว่า การตรวจเลือดจำนวนมาก จะทำให้ค้นพบผู้ที่มีเอชไอวีได้เร็วและมีจำนวนมากด้วยเช่นกัน โดยมองว่ามีหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าตนเองมีเชื้อเอชไอวีอยู่ และจะเป็นอันตรายในการทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเอชไอวี ซึ่งแนวคิดนี้ใช้กันทั่วไป รวมทั้งในประเทศไทยด้วย (คนที่สนใจเพิ่มเติม เตรียมหาอ่านการวิเคราะห์การใช้แนวคิดนี้ในรูปนโยบาย PICT ได้ในรายงานวิเคราะห์นโยบายฯ ของ กพอ. ได้ที่เว็บไซด์นี้ เร็ว ๆ นี้)

น่าเสียดายที่ข่าวไม่ได้บอกต่อว่า

ในการเชิญชวนคนมาตรวจเลือดจำนวนมาก ๆ มองเห็นจากภาพถ่ายที่ผู้คนเข้าแถวเป็นแนวยาวเข้าไปในเต็นท์แล้วให้สงสัยว่า
  1. จะมีการจัดบริการให้การปรึกษาทั้งก่อนและหลังการตรวจเลือดด้วยหรือไม่
  2. แล้วเขาดูแลเรื่องความเป็นส่วนตัวกันอย่างไร เรื่องการดูแลรักษาความลับเรื่องผลการตรวจเลือดล่ะ ทำกันอย่างไรน่ะ ?
  3. เมื่อพบผู้ที่มีเอชไอวีแล้ว แม้จะบอกว่ามีการส่งต่อเข้าระบบเพื่อรับการรักษาต่อไปนั้น ได้มีการเตรียมความพร้อมเรื่องการตัดสินใจและการวางแผนการรักษาอย่างไรบ้าง ?
  4. เขาทำอย่างไรต่อกับคนที่มีผลเลือดแสดงว่ายังไม่มีเชื้อเอชไอวี ?
  5. ในเรื่องการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย เขาแจกถุงยางเฉย ๆ หรือว่าทำอย่างไรกับมันบ้าง ? มีการให้ความรู้ พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการใช้หรือไม่ใช้ด้วยหรือไม่ ?
  6. แล้วคนมองหรือเข้าใจเรื่องถุงยางอนามัยที่เขาแจกกันอย่างไรบ้าง มองเป็นเครื่องมือทางการแพทย์เพื่อการป้องกันโรคอย่างเดียว ? หรือมองเป็นอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ?
  7. จะมีคนที่คิดว่า ถุงยาง..เอาไว้ให้สำหรับคนที่มีเอชไอวีใช้เท่านั้นหรือไม่ ?
  8. จะมีคนที่พบว่าตนเองยังไม่มีเอชไอวีแล้วจะคิดว่า เรายังไม่เป็น...ก็ไม่ต้องใช้อยู่บ้างไหม ?


เพราะแม้ว่าถุงยางมีประสิทธิภาพในการป้องกันการรับ-ถ่ายทอดเชื้อได้จริง แต่ว่ามันไม่ได้ง่ายเพียงแค่ว่าแจกจ่ายออกไปแล้วคนจะใช้


เพราะการใช้หรือไม่ใช้ถุงยางอนามัย ไม่ได้มีเพียงมิติของการป้องกันการรับ-ถ่ายทอดเชื้อเพียงมิติเดียว แต่ยังมีมิติอื่นๆ อีกด้วย พิจารณาจาก คำพูดรณรงค์ของผู้หญิงหลายคนเรื่องไมโครบิไซด์ในเวทีประชุมเอดส์นานาชาติหลายครั้งที่ผ่านมาว่า “ไมโครบิไซด์เป็นเครื่องมือในการป้องกันตัวเองของผู้หญิง ที่ผู้หญิงสามารถควบคุมและมีอำนาจในการตัดสินใจได้เอง มากกว่าถุงยางอนามัยซึ่งอยู่ในอำนาจการตัดสินใจของผู้ชายมาโดยตลอด”

ประเด็นเรื่องถุงยางอนามัยจึงอยู่ที่ว่า การเลือกใช้/ไม่ใช้อะไรในการมีเพศสัมพันธ์ยังมีมิติของ “อำนาจระหว่างเพศ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และยังเกี่ยวโยงกับเรื่อง “เพศวิถีที่แตกต่างหลากหลาย” อีกด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องการณรงค์ให้คนไปตรวจเลือดนั้น เป้าหมายของการจัดบริการตรวจเลือดยู่ที่เรื่องใดกันแน่ เป็นการทำเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการค้นหาผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี หรือทำเพื่อสร้างความตระหนักให้คนลดภาวะความเปราะบาง ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงในการรับ-ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี ของทั้งคนที่มีเอชไอวีและยังไม่มีเอชไอวี หรือว่าจะทำพร้อม ๆ กันไปทั้งสองอย่าง

เราอยากเห็นการรณรงค์ให้คนมาคนมาเข้าแถวตรวจเลือดกันแบบนี้ในประเทศไทยจริง ๆ หรือ ?


วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ถุงยางอนามัยกับวันวาเลนไทน์ปี 2553

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้อ่านข่าวความเคลื่อนไหวชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการจัดเทศกาลคานิวัลอันโด่งดังของประเทศบราซิล โดยมีการพาดหัวข่าวว่า

บราซิลแจกถุงยางอนามัย 55 ล้านชิ้นในเทศกาลคานิวัล

แล้วมีการขยายความว่า ริโอ เดอ จาเนโร – เจ้าหน้าที่สุขภาพชาวบราซิล เริ่มต้นการรณรงค์สร้างความตระหนักเรื่องเอดส์ และจะดำเนินการแจกจ่ายถุงยางอนามัยจำนวน 55 ล้านชิ้นในช่วงเทศกาลคานิวัล

โดยโฆษณาใหม่ในรายการทางทีวี จะมีการพูดถึงถุงยางอนามัยให้ชัด ๆ เพื่อเตือนให้วัยรุ่นพกพาถุงยางอนามัยไปด้วยเมื่อออกไปร่วมงานปาร์ตี้

และนายโฮเซ่ เท็มโปรัล รัฐมนตรีสาธารณสุขของบราซิล ได้ออกมาพูดว่า การรณรงค์ในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่การให้การศึกษาแก่วัยรุ่นหญิงและเกย์ให้ใช้เครื่องมือการป้องกัน โดยมีสโลแกนว่า

“ถุงยางอนามัย (ไม่ว่าจะเพื่อ) ความรัก ความเมตตา หรือแม้เพียงแค่เซ็กส์ ก็ให้ใช้มันทุกครั้ง”

แม้ว่าในปีนี้รัฐบาลจะไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะแจกจ่ายถุงยางอนามัยออกไปจำนวนเท่าไหร แต่ปีที่แล้วรัฐบาลได้แจกจ่ายถุงยางอนามัยฟรีออกไปเกือบ 500 ล้านชิ้น ทั่วประเทศบราซิล หรือคิดเฉลี่ยได้ว่า ประชาชนบราซิลจะได้รับถุงยางเฉลี่ย 2.6 ชิ้นต่อคน

สำหรับในบ้านเรา ในช่วงวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ผมได้ยินผู้ประกาศข่าวทางสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งรายงานว่า “มีเสียงแสดงความไม่เห็นด้วยกับ การรณรงค์ของรัฐบาลในวันวาเลนไทน์ แล้วก็อ้างถึง คน 2 คน โดยนักข่าวเรียกคนแรกว่า “เจ้เบียบ” (คุณระเบียบรัตน์ พงค์พานิช) และ อ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์จากจุฬาฯ” ว่าทั้งสองให้ความคิดเห็นว่า

* การณรงค์มุ่งเน้นไปในเรื่องเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นมากเกินไป
* การรณรงค์มุ่งเน้นไปที่การแจกจ่ายถุงยางอนามัย

พร้อมกับบอกว่ามีข้อเสนอว่า แทนที่จะมุ่งไปในทิศทางดังกล่าว รัฐบาลน่าจะให้ความสำคัญกับเรื่อง
* การรณรงค์เรื่องความรักของครอบครัว เป็นเรื่องของพ่อ แม่ ลูก ก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กว้างไปกว่าเรื่องเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่น และ
* แทนที่จะมุ่งเน้นเรื่องการแจกถุงยางอนามัย ก็น่าจะส่งเสริมเรื่อง การรักนวลสงวนตัวดีกว่า
ผู้ประกาศข่าวช่องนั้น ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ใคร/คนใดวิจารณ์หรือให้ข้อเสนอใด เพราะเป็นการพูดรวม ๆ ไป

เนื้อข่าวมีแค่นั้นเองครับ อีกทั้งยังเป็นเวลาสั้น ๆ เพียง 2 – 3 นาที ที่ผู้ประกาศข่าวพูดถึงเรื่องนี้ก่อนไปพูดเรื่องอื่นต่อ แต่ผมเอาเรื่องนี้มาคิดต่อครับว่า

การเสนอข่าวแบบนี้ อาจเป็นอคติของการทำข่าว ที่พยายามสร้าง คู่ความคิดเห็นตรงข้าม โดยอ้างหลักการว่า ต้องมีมุมมองข่าวให้รอบด้าน แต่บ่อยครั้งคำว่ารอบด้าน มักจะเป็น ความคิดเห็นตรงกันข้าม แบบขัดแย้งกันด้วย ซึ่งส่งผลกระทบให้สังคมไม่ได้เรียนรู้อะไรมากไปกว่า ต้องเลือกข้าง ว่าชอบหรือไม่ชอบความคิดเห็นข้างใด

แต่หากไม่ใช่อคติของผู้ประกาศข่าว ก็เป็นไปได้ว่า...
สังคมของเรายังมองเรื่องเพศแบบแยกข้าง แยกส่วนจากกัน แล้วก็พยายามเสนอความคิดเห็นของตนเองเป็นหลัก อยู่กันคนละส่วน คนละพื้นที่ คนละมุม โดยไม่มีการสร้างพื้นที่ตรงกลางในเรื่องเพศขึ้นมาเลย ราวกับว่า ต้องเลือกเอาว่าจะเสนอเรื่อง เพศสัมพันธ์กับถุงยาง หรือว่า เสนอเรื่อง ความรักบริสุทธิ์กับการรักนวลสงวนตัว (ของเด็กผู้หญิงด้วยเท่านั้น)

เรามีพื้นที่ตรงกลางจริง ๆ ไหมครับ
เรามีทางเลือกเรื่องเพศสัมพันธ์ที่กว้างขวาง จริง ๆ หรือเปล่าครับ และ
เราควรแจกจ่ายถุงยางอนามัยในสังคมดีไหมครับ

วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เรื่องเล่าของหญิงสาวกับโศกนาฏกรรมสงครามผ่านเม็ดทราย

Kseniya Simonova หญิงสาววัย 24 ปีจากประเทศยูเครน ผู้เล่าเรื่องของหญิงสาวในโศกนาฎกรรมสงครามผ่านเม็ดทราย

ย้อนไปในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนาซีเยอรมันเริ่มก่อไฟสงครามรุกรานไปทั่วทวีปยุโรป ชีวิตที่สงบสุขของผู้คนก็ถูกทำลายลง

แม้ในห้วงยามของความสวยงาม เป็นค่ำคืนที่ฟากฟ้าสุกพราวด้วยแสงแห่งดวงดาว เมื่อฝูงบินรบของผู้รุกรานปรากฎตัวเหนือท้องฟ้า หญิงสาวกับชายหนุ่มคนรักก็พลันต้องถูกพรากจากกันไกล

ความหวั่นไหว ความกังวลใจกับการสูญเสียจากการพลัดพลาก ทำให้หญิงสาวตกอยู่ในห้วงทุกข์ ใบหน้านองน้ำตา

ใบหน้าของเธอก็กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุขอีกครั้ง เมื่อเธอรับรู้ถึงชีวิตใหม่ของทารกน้อยในตัวเธอที่กำลังเติบโต

แม้เธอได้ชีวิตใหม่เพิ่มเข้ามา แต่เธอก็ต้องสูญเสียอีกชีวิตที่ผูกพันธ์มาร่วมกัน ไปพร้อม ๆ กับความโหดร้ายของสงคราม

หญิงสาวที่เพิ่งพบความสุขใจ พลิกผันกลับกลายเป็นหญิงหม้าย เมื่อมีจดหมายแจ้งข่าวร้ายจากสงคราม ใบหน้าเปี่ยมสุข พลันเปลี่ยนไปเป็นอมทุกข์ เศร้าใจ

ที่หน้าอนุสาวรีย์ทหารนิรนาม เธอสิ้นแรงใจ คุกเข่า นั่งร้องไห้ ร่วมชะตากรรมกับหญิงหม้ายอีกหลายนาง เมื่อผู้ชายของเธอเหล่านั้นจากไปกับไฟสงคราม

ความเกลียดชังยังคงพัดโหมกระพือ ไฟสงครามยังคงเผาผลาญชีวิต โศกนาฏกรรมของหญิงสาวยังดำเนินต่อไปมิรู้จบสิ้น

ที่ริมหน้าต่างบ้านอีกหลังในยูเครน หญิงสาวอีกคน พร้อมลูกน้อย กำลังโบกมืออำลา สามีผู้ที่กำลังจะจากไปสู่สงคราม

เป็นความพลัดพรากและการสูญเสีย ที่หมุนเวียนราวกับไม่มีวันจบสิ้น นานเท่าใดหนอ มนุษย์จึงจะได้เรียนรู้

ประชาชนชาวยูเครน เรียกสงครามครั้งนั้นว่า The Great Patriotic War เป็นสงครามที่พรากเอาชีวิตชาวยูเครนไปกว่า 8 – 11 ล้านชีวิต ซึ่งสูงถึง 1 ใน 4 ของประชากรยูเครนทั้งหมด 42 ล้านคน ชมเรื่องเล่าเรื่องนี้ได้ที่นี่
http://www.youtube.com/watch_popup?v=vOhf3OvRXKg

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

เพียงแค่คุณมีรัก (All You Need Is Love)

เช้าวันนี้ผมตั้งใจว่า หลังจากเช็คอีเมล์เสร็จแล้ว ก็จะทำงานที่ค้างไว้อยู่หลายชิ้น แต่เพียงเลือกเปิดอีเมล์ฉบับแรกซึ่งส่งมาถึงผมเมื่อวันที่ 4 มกรา เป็นเมล์ส่งต่อชื่อ “สุขสวัสดีปีใหม่” จาก “อ้ายปั๋นมอย” มิตรร่วมอุดมการณ์ ข้างในเป็นลิงค์เชื่อมโยงไปยัง “YouTube” เมื่อคลิ๊กตามไปเปิดดู ก็เริ่มทำให้ผมสะดุด และต้องตามดูไปจนจบ

คำโปรยของวีดีโอลิงค์บอกว่า บันทึกนี้เป็นของ โครงการแห่งรักของสตาร์บัคส์ (The Starbucks Love Project) ระบุว่า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา มีผู้คนจากประเทศต่าง ๆ รวม 156 ประเทศ ที่ร่วมรวมใจกันร้องเพลงๆ หนึ่ง พร้อม ๆ กัน ในวินาทีเดียวกัน จากประเทศของตน เพื่อเป็นการส่งความรัก และสร้างความตระหนักเรื่องปัญหาเอชไอวี/เอดส์ในทวีปแอฟริกา

ภาพวิดีโอหลังคำโปรยเบื้องต้นผ่านไป เป็นกลุ่มนักดนตรีเครื่องเป่าทองเหลืองวงเล็ก ๆ 4 คนจากออสเตรีย เริ่มบรรเลงดนตรีท่อนเกริ่นนำ ตามมาด้วย สเปน ก่อนเข้าสู่ท่อนร้องด้วยการเปล่งเสียง ความรัก รัก รัก รัก โดยเด็ก ๆ และผู้ใหญ่เกือบ 20 คนจาก โบลิเวีย

ภาพทะยอยตัดไปตามประเทศต่าง ๆ ที่ร่วมกันเปล่งเสียงร้อง เรื่อยเรียงไป สัมผัสได้ถึงความสุขใจ เพื่อบอกกับผู้คนผ่านเนื้อเพลง “เพียงแค่คุณมีรัก” (All You Need Is Love) ของ วงสี่เต่าทอง (The Beatles) ประมาณความหมายว่า

มิมีสิ่งใดที่คิดว่าทำได้ แล้วคุณจะทำมันไม่สำเร็จ
มิมีเพลงใดที่คิดว่าร้องได้ แล้วคุณจะไม่สามารถเปล่งเสียงร้องเพลงนั้นออกมา
มิมีสิ่งใดที่คิดว่าควรรู้ แล้วคุณจะไม่สามารถรู้ได้
มิมีสิ่งใดที่คิดว่าสามารถมองเห็น แล้วมันจะไม่ปรากฎ

เพียงแค่คุณมี รัก ทั้งหมด ทั้งมวลที่คุณต้องการคือ รัก
รักเป็นทุก ๆ สิ่งที่คุณต้องการ
ความรัก รัก รัก รัก รัก รัก รัก รัก
เพียงแค่คุณมีรัก รักเป็นทุก ๆ สิ่งที่คุณต้องการ


ดนตรีเพราะ ทำนองโดน เนื้อหาดี บวกแรงบันดาลใจในการสร้างสรรวิดีโอเพลงนี้ออกมาจาก การร่วมรวมใจของผู้คนจาก 156 ประเทศ ส่งผลให้ผมรับฟังและชมการแสดงชุดนี้อย่างมีความสุข

วิดีโอนี้น่าจะทำโดยทีมงานของสตาร์บัคส์เลิฟโปรเจก เพราะคำปิดท้ายบอกว่า ขอให้ผู้ที่ได้รับช่วยส่งต่อให้กับคนอื่น ๆ เพราะว่า จำนวนครั้งของการเปิดเข้าชม จะเป็นตัวบอกจำนวนเงินที่ สตาร์บัคส์จะสมทบให้กับกองทุนโลกเพื่อการต่อสู้กับปัญหาเอดส์ มาลาเรีย และวัณโรค โดยจะนำไปสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเอดส์ในทวีปแอฟริกา และถึงวันที่ผมเข้าไปดู ก็มีผู้คนกว่า 6 แสน 5 หมื่นคนคลิ๊กเข้าไปดูไปชมกันแล้ว

ผมเองเคยได้ดื่มกาแฟข้ามชาติยี้ห้อนี้ไม่กี่ครั้ง ก็อร่อยจริง แต่ก็ไม่ได้มีแรงปัจจัยซื้อมันดื่มต่อเนื่อง แต่คราวนี้สิ่งที่เขาทำให้เป็นส่วนหนึ่งของคำอวยพรปีใหม่สำหรับปี 2010 นับเป็นส่วนที่เติมความสุขให้ผมได้ชม ได้เกาะกระแสเทศกาลแห่งความสุขสำหรับปีใหม่ปีนี้ได้เป็นอย่างดี จึงเอามาเล่าสู่กันฟัง เป็นแรงบันดาลใจสำหรับปีนี้และปีต่อ ๆ ไป ว่า

มนุษย์สามารถทำทุกสิ่งที่ดีต่อกันได้ดังใจปราถนา
เพียงแค่เรามี “ความรัก” ความห่วงใยต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน


สุขสันต์วันปีใหม่ แล้วเชิญชวนกันเข้าไปชมตามลิงค์ข้างล่างนี้ครับ

http://www.youtube.com/watch?v=Nh7D2g5v-Sg&feature=channel