วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ในนามของความเป็นมนุษย์:

ต้องเดินทางผ่านคราบน้ำตาอีกกี่มากน้อย. จึงจะได้ค้นพบใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม..
ต้องเดินทางผ่านความเศร้าโศกอีกกี่มากน้อย.. จึงจะได้ค้นพบความปิติสุข...
ต้องเดินทางผ่านความสูญเสียอีกกี่ผู้คน..จึงจะได้ค้นพบ.ความหมายของการมีชีวิต..
ฤา...คำตอบมิได้ล่องลอยอยู่ในทุกอณูแห่งสายลม….

กว่า 2 ทศวรรษบนเส้นทางการเผชิญหน้าและการต่อสู้เรื่องเอดส์ นอกจากความเศร้าโศกและการสูญเสียแล้ว ยังทำให้เราได้ค้นพบความงดงามและพลังที่สำคัญ เป็นพลังแห่งการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย

หลายต่อหลายครั้งของการเดินทาง เพื่อนฝูง คนคุ้นเคยได้เดินทางจากเราไป ผ่านมิติของกาลเวลา จากสถานที่หนึ่งไปสู่อีกสถานที่หนึ่ง จากร่างกายที่รู้รับจับต้องสัมผัสได้…คงเหลือไว้เพียงอดีตและร่องรอยแห่งความทรงจำ เราได้เรียนรู้ถึงพลังและการสร้างพลังชีวิตในการขับเคลื่อนทางสังคมของพี่น้องเหล่านั้น ผ่านความสัมพันธ์ในมิติหญิงชาย ความหลายหลากทางชาติพันธุ์ นานาความเชื่อ ศรัทธาและศาสนา จากชุมชนสู่ชุมชน และแน่นอนจาก”ชุมคน”สู่”ชุมคน”เช่นเดียวกัน เป็นการเรียนรู้บทเรียนชีวิตบนความพยายามในการแสวงหาภูมิปัญญาและความรู้ ที่แสดงให้เห็นได้ด้วยตา สัมผัสรับรู้ได้ด้วยใจ ผ่านกระบวนการสร้างพลังในมิติคุณค่าความหมายของการเป็นมนุษย์ ทั้งที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและหรือมีความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อน ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการทบทวนให้เห็นด้วยใจ

นับถอยหลังก้าวที่หนึ่ง…

..การเริ่มเดินทางย้อนกลับไปบนเส้นทางที่ผ่านมา..
...มิใช่เป็นเพียงความต้องการถอยหลังไปยังที่จุดเริ่มต้นแต่อย่างใด...
....หากแต่เป็นการเดินทางถอยหลังเพื่อการก้าวไปข้างหน้าอีกครั้งหนึ่ง....


กว่าสองทศวรรษหรือยี่สิบปีที่สังคมไทยรับรู้เรื่องเอดส์ มีกี่มากน้อยของผู้คนที่ได้เรียนรู้และทบทวนตนเอง จากชีวิตสามัญของคนยากไร้ไม่ว่าจะในท้องทุ่งชนบทหรือสลัมเมือง ชีวิตหรูหราด้วยเสน่ห์ทางวัตถุและความสะดวกสบายของเศรษฐีผู้มีอันจะกิน ชีวิตอุดมคติของนักกิจกรรมสังคม ชีวิตมีเกียรติด้วยภูมิรู้ของครูบาอาจารย์ นักวิชาการ หรือแม้…ชีวิตของเราเอง

มีกี่มากน้อยของผู้คนที่จะได้ทบทวนว่า เรื่องราวของสังคมและผู้คนแวดล้อมที่กำลังเผชิญหน้ากับเอดส์ ได้สร้างปัญญาให้เราได้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ได้ทบทวนและเรียนรู้ความหมายของ “เอดส์” ได้อย่างรอบด้าน ทั้งกายสัมผัส ใจรับรู้ และจิตวิญญาณซึมซับเพียงใด

เรา…เริ่มนับหนึ่งเรื่อง เอดส์ ว่ามันเป็นเชื้อโรค คนที่ป่วยเป็นเอดส์ เพราะเขามีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย เป็นเชื้อโรคร้ายที่ไม่มีทางรักษา คนที่ป่วยเป็นเอดส์ต้องตาย ตายในสภาพที่น่าเวทนา และที่สำคัญมันแพร่กระจายผ่านส่วนเปราะบางในชีวิตของความเป็นมนุษย์ ผ่านกิเลส ตัณหา ความอยากมีอยากได้ รวมทั้ง…ผ่านการแสวงหาความสุขเพื่อปลดเปลื้องชีวิตออกจากความทุกข์ ความเศร้า ความเหงา ความกลัวการถูกทอดทิ้ง

เรา…เริ่มคิดหาหนทางจะหยุดยั้งมันด้วยการสร้างภาพความน่าหวาดกลัว ด้วยความเข้าใจอย่างผิวเผินเรื่องความเป็นมนุษย์ว่า เราจะสามารถหยุดยั้งมันได้ด้วยการข่มขู่ให้ผู้คนหวาดกลัวและไม่เข้าใกล้มัน

“เอดส์ รักษาไม่หาย เป็นแล้วตายลูกเดียว”
“มั่วเข็ม มั่วเพศ ติดเอดส์ไม่รู้ตัว”
“หยุดสำส่อนทางเพศ หยุดเอดส์”

เรา…ประสบความสำเร็จในการขู่ให้ผู้คนหวาดกลัว ทำให้สังคมตกอยู่ในความเงียบ รวมทั้งฉุดดึงเอาส่วนลึกของความกลัวในตัวเราขึ้นมาด้วย แต่เรากลับไม่สามารถหยุดเอดส์ได้ ในขณะที่ความกลัวได้พัฒนาตัวมันเองกลายเป็น ความรังเกียจ กีดกัน ตีตรา แบ่งแยกความเป็นมนุษย์ของผู้คนในสังคม เพียงเพราะพวกเขาและเธอเหล่านั้นมีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย
นี่นับเป็นความสำเร็จ..ฤา..เป็นความล้มเหลว

หลายปีต่อมา…ท่ามกลางความหวาดกลัวของผู้คน ในความสับสนและความเงียบงันของสังคม การสงบนิ่งสดับฟังเสียงท่ามกลางภวังค์แห่งความเงียบและความหวาดกลัว อาจทำให้เราได้ยินสำเนียงสายเสียงกระซิบบอก ที่หากไม่สดับฟังก็คงมิได้สัมผัสถึงพลังและความหมายที่ระทึกก้องอยู่ในโสตประสาท ทั้งปลุกเร้าและย้ำเตือนให้เราได้รับรู้ถึงสำนึกของความเป็นมนุษย์ของเพื่อนผู้มีเชื้อเอชไอวี …ณ ที่นั้น…การเดินทางเพื่อค้นหาคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

นับถอยหลังก้าวที่สอง…

แดง

ฉันผิดแปลกแตกต่าง ?? ฉันไม่ได้หายใจเหมือนเธอหรือ
หรือไม่ใช่พวกพ้องเดียวกัน หรือเราไม่ได้แบ่งปันฝัน
ถ้าฉันแตกต่างออกไป ความแตกต่างนั้นคือตัวฉันเอง
ไม่สวย ไม่งามหรอกหรือ สิ่งต้องการคือ มองลึกลงไปใต้เนื้อหนัง
ร่างกายเป็นเพียงเครื่องห่อหุ้ม ความจริงแท้ คือความงามภายใน
สิ่งที่ดวงตาไม่เห็นเสมอใจ มีไข่มุกงามในเปลือกหอยเรียบง่าย
คงต้องใช้หัวใจค้นหา และอยากบอกว่า ดวงตา ไม่อาจมองลึกเท่าใจ

ประเสริฐ เดชะบุญ (แดง) เพื่อนผู้มีเชื้อและอยู่ร่วมกับเอชไอวีมานานกว่า 15 ปี เขียนและร้องเพลงนี้ให้เราได้ฟังท่ามกลางความเงียบของผู้คน ความแห้งแล้งของจิตใจมนุษย์ที่ถูกแบ่ง ถูกแยก เพียงเพราะการมีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย…. ที่คงต้องหลับตาอ่านและเปิดใจฟังความหมาย จึงจะพบความเรียบง่าย สวยงาม ที่มีมากกว่าเสียงที่หูได้ยินและตัวอักษรที่ดวงตามองเห็น

เบียร์

“ผมผูกพันกับครอบครัวมาก แม้จะยากจน แต่ก็มีความสุข พ่อแม่รักผม ฉะนั้นผมจึงทนไม่ได้ที่จะให้เขาหมางเมินไปอย่างนี้ มันโหดร้ายต่อผมมากกว่าความตายเสียอีก ถ้าผมจะตาย ผมก็อยากตายโดยที่พวกเขาเข้าใจผม ผมเริ่มเขียนจดหมายให้ทางบ้านฟังว่า ทำไมเราถึงเป็นแบบนี้ เกิดปัญหาอะไร พยายามให้เขาเข้าใจว่าเอดส์ไม่ได้ติดกันง่าย ๆ มีแผ่นพับ เอกสารอะไร ผมก็ส่งไป ทำแบบนี้ทุก 2 วัน จน 3 เดือนเข้าแล้ว ก็ยังไม่มีใครเขียนตอบ กระทั่งเดือนที่ 4 จึงมีจดหมายตอบกลับมาว่า ‘ให้กลับบ้านเถอะ ทุกคนเป็นห่วง…’

ปาน

แต่ก่อน จะทำอะไรก็จะนึกถึงตัวเองและครอบครัวก่อน ไม่ค่อยได้สนใจว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร พอรู้ว่าติดเชื้อ ได้รวมกลุ่ม เห็นชีวิตของหลายคนที่เขาทุกข์มาก ๆ มันทำให้ลืมความทุกข์ของตัวเอง มีอะไรที่เราช่วยได้ก็อยากทำ ตอนนี้สอนลูก ก็จะเน้นเรื่องให้เป็นคนดี รู้จักแบ่งปัน แล้วก็พยายามให้เขาช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะถึงวันหนึ่งที่แม่ไม่อยู่ เขาจะได้มีคนรัก และอยู่อย่างไม่ลำบากเกินไปนัก”

ขันแก้ว

“สายใยเอย สายใยรัก แม่ถักแม่ทอ
กระตุกกี่..กี่ครั้งหนอ จึงจะพอต่อฝันงาม”


เป็นเวลากว่ายี่สิบปีมาแล้วที่ขันแก้วได้รับการสอนทอผ้าจากแม่ เธอค่อย ๆ หัดเรียงร้อยเส้นไหม ให้เป็นผ้าผืนงาม ณ เวลานั้น ขันแก้วไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าต้องเรียนรู้เรื่องของผ้าและกี่ทอผ้า

จวบเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ขันแก้วจึงได้รู้ว่า แท้จริง ชีวิตก็คล้ายการทอผ้านั่นเอง อาจมีบางครั้งที่เกิดการกระตุก ติดขัดบ้าง แต่เธอก็ต้องแก้ปัญหานั้นไป โดยมีจุดหมายสูงสุดคือ การได้มาของผ้าผืนหนึ่ง จะสวยหรือไม่ แต่ถ้าพยายามอย่างที่สุดแล้วก็ควรพอใจมิใช่หรือ

ทุกวันนี้ขันแก้วเย็บผ้าและทอผ้าเพื่อเป็นแรงสานต่ออนาคตของลูก ผ้าชีวิตที่เธอเคยทอ เคยติดขัด ยับย่นมาแล้ว คงจะไม่สูญค่าไปเปล่า ๆ เธอหวังว่า ประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยทำให้เธอวางตำแหน่งและทิศทางของเส้นไหมได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น
เพื่อวันข้างหน้า… ผ้าผืนนั้นของลูก จะสวยงามกว่าของเธอ…


นับถอยหลังก้าวที่สาม…

“เอดส์มิใช่เพียงแค่ เอชไอวี หรือไวรัสชนิดหนึ่ง หรือโรคชนิดหนึ่ง เอดส์หมายถึง “คน” ที่อยู่ในสภาพภูมิต้านทานบกพร่อง อันมีสาเหตุมาจากไวรัสชนิดหนึ่ง จุดเน้นที่ผ่านมาเรามุ่งอยู่แต่ที่ตัวของไวรัสมากกว่าที่คน เราจึงมุ่งวิจัยโรคเอดส์และอาการของโรค มากกว่าพิจารณาผู้ป่วยด้วยทัศนะแบบองค์รวม เราเน้นภาพที่น่าเกลียดน่ากลัว อาการทั้งภายในภายนอกทุกอย่าง และนำเสนอต่อสาธารณชนโดยหวังว่า จะทำให้ผู้คนกลัวและป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อนี้….
…เอดส์เป็นโศกนาฎกรรม เป็นการแตกสลายของฐานธาตุทั้ง 4 ที่มิใช่เพียงธาตุ 4 ในชีวิตคนคนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงธาตุของสังคม ของโลก และของธรรมชาติโดยรวม เอดส์ทำให้ความเป็นคนแตกสลาย เอดส์ ทำให้เราต้องกลับมาไตร่ตรองและทบทวนชีวิตกันใหม่ เอดส์ ทำให้เราต้องหันกลับมาหาเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ แสวงหาความรู้ที่ทำให้เกิดปัญญา และนำไปสู่ความจริง”
อาจารย์เสรี พงศ์พิศ ออกมาบอกมากล่าว มาเล่าเรื่องราวของเพื่อนผู้มีเชื้อเอชไอวีหลายคนที่เขาเข้าไปคลุกคลีสัมผัสในฐานะเพื่อนมนุษย์


หากเอดส์เป็นความไร้เหตุผลบนความมีเหตุมีผลในความสัมพันธ์ของมนุษย์ เอดส์คงเป็นภาพสะท้อนความไร้เหตุผลที่มนุษย์แสดงความรังเกียจ กีดกัน แบ่งแยก และปฏิบัติต่อกันราวกับมิใช่พี่น้อง ญาติมิตร และเพื่อนมนุษย์ เรื่องราวชีวิตข้างต้นของ แดง เบียร์ ปาน และขันแก้ว เป็นเพียงชีวิตส่วนหนึ่งของเขาและเธอ ที่บอกเล่าผ่านหนังสือชื่อ “จากวันที่ผันเปลี่ยน : คืนวัน ความฝัน รอยยิ้ม และน้ำตาของผู้มีเชื้อเอชไอวี” ด้วยความมุ่งหวังและตั้งใจที่จะบอกให้สังคมได้รับรู้ถึงความเป็นมนุษย์ในตัวของเขาและเธอ เพียงหวังว่าสังคมจะมองเห็นความเป็นมนุษย์ของเขาและเธอมากกว่าเชื้อไวรัสเอชไอวีที่มีอยู่ในร่างกาย เพียงหวังจะเกิดแรงบันดาลใจในการผลักดันให้เกิดพลังและทางเลือกของสังคมไทยในการต่อสู้กับเอดส์และความรังเกียจ กีดกัน แบ่งแยกมนุษย์ออกจากกันและกัน

ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่พยายามถ่ายทอดภาพเหล่านี้ออกสู่สังคม เพื่อให้สังคมได้หลุดพ้นออกจากความหวาดกลัว ที่มิใช่เป็นแค่ความหวาดกลัวต่อเอชไอวี/เอดส์ในฐานะที่เป็นเชื้อโรคเท่านั้น แต่เป็นความหวาดกลัวต่อการแบ่งแยก กีดกัน และทำลายความรัก ความเคารพที่พึงมีต่อกันในฐานะมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

“เอดส์เป็นอาณาแห่งทุกข์ ที่มาจากโครงสร้างของสังคมที่อยุติธรรม แก่งแย่ง เอาเปรียบ กดขี่ข่มเหงกัน เราควรใช้เอดส์เป็น “อุบาย” ในการเข้าถึงความทุกข์ของคนและสังคม เพื่อค้นหาเหตุแห่งทุกข์ เพื่อสร้างวิถีแห่งการอภัยให้แก่กัน เพื่อเอาชนะความกลัว”
อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวปาฐกถาไว้ ณ ที่แห่งหนึ่งในปีพุทธศักราชที่ 2546

“ขอบคุณที่เป็นเอดส์” คุณพิมใจ อินทะมูล ผู้ติดเชื้อหญิงถ่ายทอดความนึกคิดของเธอให้ผู้คนหลากหลายที่พบกันในต่างกรรมต่างวาระฟังหลายต่อหลายครั้ง ถึงความหมายของเอดส์ที่ช่วยให้เธอหยุดมองหยุดทำเพื่อตัวเอง และ…เริ่มต้นมองและทำเพื่อสังคม

เราจะมองเห็นเอดส์ อย่างมีปัญญา ไม่มองแยกเป็นส่วน ๆ ได้อย่างไร ?
เราจะมองเห็นเอดส์ พร้อมกับมองเห็นความรัก ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
และร่วมกันฝ่ามายาคติแห่งการแบ่งแยก กีดกันมนุษย์ได้อย่างไร ?


ในนามของความเป็นมนุษย์