วันพุธที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2552

นางฟ้า (My angle)

ในลมหนาวเดือน 2544 ระหว่างที่เรากำลังวุ่นวายอยู่กับการเตรียมการมีส่วนร่วมในการประชุมระดับนานาชาติเรื่องเอดส์ว่าด้วยเรื่องการดูแลที่บ้านและชุมชนฯ ซึ่งกำลังจัดขึ้นที่เชียงใหม่ ผมแว่วได้ยินข่าวจากเพื่อนร่วมงาน เรื่องการจากไปของ “พอวา” เด็กหญิงตัวน้อย

ข่าวเศร้านี้ผ่านมาจากน้อง ๆ “ร้านเล่า” ซึ่งผูกพันกับครอบครัวนี้ใกล้ชิด ขณะที่ผมเองเป็นเพียงผู้รู้จัก ประกอบกับความวุ่นวายของงานในช่วงนั้น ทำให้ผมไม่ได้มีโอกาสไปร่วมงานอาลัยที่พ่อแม่ของเธอจัดให้

“พอวา” เด็กหญิงตัวน้อย ร่าเริง แจ่มใส ทุกครั้งยามเมื่อพบเธอพร้อมพ่อแม่และน้องชาย ที่ “ร้านเล่า”

กลางลมหนาว บนดอยสุเทพ ในอีกสองปีถัดมา ผมได้พบและเริ่มคุ้นเคยกับ “พี่นนท์” (สุวิชานนท์ รัตนพิมล) อีกครั้ง เมื่อคราวที่คนทำงานด้านเอดส์เชิญนักเขียนมาพูดคุยเรื่องการเขียนและการฝึกเขียน

นับแต่นั้น ผมได้ติดตามอ่านงานเขียนและงานเพลงของเขามาอย่างต่อเนื่อง รับรู้ถึงความรัก ความผูกพันที่เขามีให้ “พอวา” นางฟ้าของเขาเสมอมา

ผ่านมาอีก 4 ฤดูหนาว ผมก็ได้ฟังเพลงนี้ “นางฟ้า” (My angle) เพลงหนึ่งที่เขาเขียนและร้อง ให้กับความทรงจำที่มีต่อลูกสาวในอัลบั้ม นางฟ้าสีขาวกับรอยเท้าพระจันทร์

เนื้อเพลงให้สัมผัสถึงความอบอุ่น ความผูกพันธ์ สะท้อนแง่งามของความเป็นมนุษย์ที่พ่อพึงมีให้ลูกสาวที่จากไป

ดนตรีประกอบเป็นวงเครื่องสายวงเล็ก ๆ ช่วยขับเน้นความงดงาม ความรักที่เรียงร้อยผ่านเนื้อเพลงที่พ่อบรรจงเขียนถึงลูก เครื่องสายบางชิ้นให้อารมณ์เศร้าจับใจ ล่องลอยอยู่ท่ามกลางเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองอีกหลายชิ้นที่พาเสียงเพลงประกอบลอยพริ้วเป็นฉากหลัง

ลมหนาวกำลังพัดส่งท้ายปี 2552 ผมหยิบเพลงนี้มาฟัง แล้วก็อยากชวนให้หาฟังกันครับ

เธอเป็นนางฟ้ายามบ่าย ในฤดูใบไม้ร่วงโปรย
เป็นสายสีรุ้งลมพัดโชย โดยใจใคร่รู้ ใคร่เห็น
เป็นลมเย็นเย็น ในป่าชื้นชุ่มฉ่ำ
เป็นเริงระบำรำฟ้อนดงหญ้าป่า
เป็นลายดวงตาบนท้องฟ้ากว้างไกล ในค่ำคืน

เป็นนางฟ้า ฮ้า ฮา ฮ้า ฮา
เป็นนางฟ้า ลงมาบนผืนดิน ให้ฉันชม
เป็นนางฟ้า ลงมาให้ฉันชม บนผืนดิน
เป็นนางฟ้า ฮ้า ฮา ฮา ฮา ฮา …

เธอเป็นนางฟ้าเดือนใกล้ เป็นลมดอกไม้โชยพัดมา
เธอโปรยละอองดาวเพียงพริบตา ลับแล้วไม่ลาเธอจากไป
เป็นมวลดอกไม้ในป่าชื้นชุ่มฉ่ำ
เป็นเริงระบำใบไม้ ใบหน้าป่า
เป็นลายดวงตาตามแม่น้ำไหลไกล ในค่ำคืน
.........

เพลง นางฟ้า (My Angel)
คำร้อง-ทำนอง สุวิชานนท์ รัตนภิมล

วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2552

(เธอ)...ความผูกพันเดียวที่มีความหมายในชีวิตของพี่ชายคนนั้น


คนที่เคยเดินทางไปตามเขตรอยต่อของจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือ คงพอหลับตานึกเห็นภาพเส้นทางทอดยาวคดเคี้ยวผ่านภูเขา ที่นำพาผู้คนผ่านไปตามชุมชน เมืองเล็ก เมืองน้อยที่ซ่อนตัวอยู่ตามพื้นที่ราบระหว่างภูเขาใหญ่

เมืองนี้ก็เป็นเช่นเมืองอีกหลายเมืองตามหุบเขาใหญ่ เป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่ระหว่างทางผ่านของสองจังหวัดใหญ่ทางเหนือ เป็นเมืองที่ผมมีโอกาสไปเยี่ยมเยียน เรียนรู้ชีวิตของคนหลาย ๆ คนที่นั่น

เมืองนี้ซ่อนตัวอยู่ระหว่างหุบเขา ที่อาจเรียกได้ว่า อยู่ในสภาพไกลปืนเที่ยงก็ว่าได้ หากนับย้อนไปในวันเวลาที่พี่ชายคนนั้นยังเป็นหนุ่มอยู่..........

บ่ายวันหนึ่งในช่วงกลางปี 2549 ผมพบกับเขา....ผู้ชายคนนั้น....ในวันเวลาที่เขาผ่านชีวิตมากว่าสี่สิบห้าปีแล้ว เขาได้รับการติดต่อเพื่อช่วยบอกเล่าชีวิตของเขาให้ผมฟัง ในห้องว่างของโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง

หลังพูดคุยแนะนำตัวทำความคุ้นเคยกันสักพัก พี่ชายก็เริ่มต้นเล่าชีวิตให้ผมฟัง ว่าเวลาที่ผ่านไปเกือบค่อนชีวิตของเขาผ่านอะไรมาบ้าง....ชีวิตวัยหนุ่มที่รุ่งเรือง ที่นับว่านำสมัยและโดดเด่น กับโศกนาฐกรรมชีวิตในพื้นที่เมืองกลางหุบเขา....

เขาย้อนถามผมว่า อยากให้เล่าเรื่องแบบนี้ใช่ไหม..... ผมไม่ขัด....เขาจึงเล่าต่อไปเรื่อย..นับเป็นชั่วโมง ๆ

ระหว่างนั้น ผมถามเขาว่า ชีวิตปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง....พี่ชายนิ่ง มองหน้าผม ดวงตาของเขาฉายแวววูบเหงาให้เห็น

เราเปลี่ยนมาพูดคุยเรื่องชีวิตปัจจุบันและอนาคต ที่บางคนบอกว่า เขาไม่มีอนาคตอีกแล้ว...อนาคตที่เหลืออยู่ของเขาขึ้นอยู่กับเม็ดยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี
ที่เขาต้องกินทุกวัน ต้องกินให้ตรงเวลา
เป็นการกินยาตามเข็มนาฬิกา ที่ผูกพันธนาการชีวิตของเขาเอาไว้
เป็นการกินยาเพื่อให้มีชีวิต และ....มีชีวิตเพื่อกินยา


เวลาอีกกว่าชั่วโมง ที่ผมนั่งฟังพี่ชายคุย เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของเขาอย่างเดียวดาย อยู่ร่วมกับสหายชื่อความเหงา โดยมีพยานชีวิตเป็นนก ไก่ กา ที่เขาเลี้ยงไว้ในสวนกลางหุบเขา....เขาต่อชีวิตของเขา ด้วยความหวังกับหญิงสาวรุ่นพี่ที่อยู่แดนไกล ผู้ที่คอยเป็นห่วง ดูแลเขาทุก ๆ ครั้ง ยามที่เธอเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด

น้ำเสียงของเขายามบอกเล่าเรื่องของเธอ ดูหนักแน่น จริงจัง แต่เป็นเสียงที่เปี่ยมสุข...นั่น...นับเป็นความรู้สึกของผม ...เป็นน้ำเสียงที่แตกต่างออกไป

ความผูกพันระหว่างสองคน มีต้นทุนมาจากความเป็นเพื่อนและความห่วงใย....สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นแรงขับเคลื่อนชีวิตของเขา เป็นความหมายในการมีอยู่ของชีวิต ชีวิตของชายวัยกลางคน ที่ผู้คนในชุมชนบอกว่า เคยเป็นชีวิตที่โดดเด่น ล้ำสมัย อยู่ในชุมชนที่ตั้งอยู่ห่างไกลท่ามกลางหุบเขา แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่ ผู้คนที่นั่นบอกว่า เขาไม่รุ่งแล้ว

ช่วงบ่ายวันถัดมา ขณะที่ผมนั่งฟังและเรียนรู้ชีวิตของชายอีกคนอยู่ ผมเห็นพี่ชายคนเดิม เดินผ่านไปมาหน้าห้องหลายรอบ สายตาที่มองมาแสดงความหมายต้องการพบกับผมอีกครั้งให้ได้ เขารออยู่จนเราได้พบกัน เขาเข้ามาขอเทปที่อัดเสียงการพูดคุยระหว่างเราเมื่อวานนี้ บอกความต้องการ ใช้สิ่งนี้เป็นพยานชีวิต ที่บ่งบอกเจตนาบริสุทธิ์ และความรักที่มีต่อหญิงสาว...ผู้ที่เขาเฝ้ารอ

“หากเกิดอะไรขึ้น ผมอยากให้เขาได้ยินที่ผมพูดเมื่อวานนี้ ว่าผมรู้สึกกับเขาอย่างไร....”

ผมยังคงคิดถึงคำพูดนี้ เป็นคำพูดที่พี่ชายคนนั้นบอกผมว่า....

การพูดคุยกันของเรา ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ความหวังในชีวิตของเขามีความหมายเยี่ยงไร และเขาไม่อยากสูญเสียมันไป

และหากถึงวันที่เขาต้องจากโลกนี้ไป เขาก็อยากให้หญิงสาวคนนั้นได้ฟังถ้อยคำที่เขาพูดถึงเธอด้วยความจริงใจ โดยมีคนแปลกหน้าอย่างผมเป็นเพื่อนร่วมสนทนารับฟัง

ผมหยุด นิ่ง คิด.....ว่า....ในขณะที่เม็ดยา.....อาจทำหน้าที่ของมันในการต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีในร่างกายของเขา แต่สิ่งที่ค้ำจุนชีวิตและจิตใจของเขาอยู่เบื้องหลัง กลับเป็นความหวัง ความหมายในชีวิต ที่สร้างขึ้นมาจากต้นทุนชีวิต ความรัก ความผูกพันระหว่างมนุษย์...

...ที่การให้ความหมายเรื่องเอดส์กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้พรากเอาสิ่งเหล่านี้ไป

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

"เด็กชายไร้ตัวตน"

กาลครั้งหนึ่ง ยังมีเด็กชาย
ผู้ไม่มีชื่อเสียงเรียงนามหรือร่างกาย
ผู้คนที่มองว่าเขาไร้ความหมาย
ได้พากันตั้งชื่อให้ว่า
"เด็กชายไร้ตัวตน"

เด็กชายไร้ตัวตน
อยากเป็นใครสักคน ที่มีความหมาย
เขาบรรเทาความเหงาเดียวดาย
ด้วยการปลูกดอกไม้มากมายเพียงลำพัง

แล้วในวันหนึ่งไม่คาดคิด
เด็กหญิงเขินอาย นำดอกไม้มามอบให้เด็กชายในวันสำคัญ

ตามประเพณีเป็นที่รู้
ว่าการมอบดอกไม้ในวันนั้น
ถือเป็นการบอกกัน ว่าฉันชอบเธอ

เด็กชายไร้ตัวตนไม่กล้าเชื่อเพราะแปลกใจ
จึงถามเด็กหญิงไป
เธอจะชอบฉันได้อย่างไร จะชอบกันตรงไหน
ทั้งร่างกาย หน้าตาฉัน เธอมองไม่เห็น
สิ่งที่ฉันเป็น คือเด็กชายไร้ตัวตน
เป็นบางสิ่งที่ผู้คนเรียกว่า ไร้ความหมาย

เด็กหญิงก้มหน้าแล้วตอบเอียงอาย
ฉันไม่ได้คิดเช่นผู้คนที่เธอพบมากมาย
ฉันคอยแอบมองเวลาเธอปลูกดอกไม้
ฉันคงพูดไม่เก่งพอจะอธิบาย
แต่เท่าที่ฉันพอจะบอกได้คือ
ฉันชอบเธอเพราะสิ่งที่เธอทำ

เด็กชายทวนคำของเด็กหญิงอยู่ในใจ
ใช่เพียงดอกไม้ที่เด็กหญิงมอบให้
แต่เป็นบางสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกมีความหมาย
แม้จะเป็น เด็กชายไร้ตัวตน

"เด็กชายไร้ตัวตน" บทนี้ เป็น หนึ่งในยี่สิบสองบท ที่เขียนโดยผู้ที่ใช้นามว่า "ทรงศีล ทิวสมบุญ" ในหนังสือรวมเล่มของเขาชื่อ Once Upon Sometimes พิมพ์ครั้งที่ 2 โดยแพรวสำนักพิมพ์

ผมเลือกหยิบซื้อหนังสือเล่มนี้มาจากงาน CMU Book Fair เมื่อช่วงปลายพฤศจิกาต่อต้นธันวาที่ผ่านมา อ่านแล้วชอบหลายบทที่เขาเขียน บทที่ชอบมากน่าจะเป็นบทนี้ "เด็กชายไร้ตัวตน" จึงหยิบมาแบ่งปัน

ผมอ่านแล้วสัมผัสได้ถึงความรู้สึกหลายอย่าง "เหงา" "เดียวดาย" "ผูกพัน" "การเป็นที่รัก" "การมีตัวตน"
ผมคิดตามต่อว่า ความเป็นมนุษย์เป็นเช่นนี้เอง เป็นคนที่อยากมีตัวตน มีความผูกพัน สัมพันธ์กับผู้คน อันเป็นความหมายของการมีชีวิตอยู่

สำหรับเขา เด็กชายไร้ตัวตน การมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย เป็นเยี่ยงนี้เอง เยี่ยงที่เพื่อนมนุษย์ควรมีให้กัน

แล้ว "การมีตัวตน" ของคุณ ของผม เป็นเยี่ยงไร ??

วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552

“เพียงแสงพราวใจ ยามค่ำคืน”


ช่วงกลางปี 2551 ผมเดินทางไปที่โรงพยาบาลชุมชนในอำเภอแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เพื่อพบปะพูดคุยกับคนจำนวนหนึ่ง ที่ว่ากันว่า ได้รับประโยชน์จากบริการด้านการรักษาสุขภาพด้วยเม็ดเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งที่ได้รับมาจาก กองทุนโลก เพื่อการต่อสู้กับปัญหา เอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย

หนึ่งในจำนวนผู้คนที่ผมพบเป็นเธอ ที่ผมขอเรียกเธอว่า “ชุ” เรานัดหมายคุยกันที่ลานทางเดินเล็ก ๆ ผ่านไปยังห้องอาหารของโรงพยาบาลแห่งนั้น ผมมีภาระกิจหลักในการพูดคุยสอบถามเรื่องผลการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีต่อสุขภาพของเธอ เม็ดยาที่เธอกิน เพื่อนำผลที่ได้ไปทำเป็นข้อเสนอในการจัดบริการรักษาให้ดียิ่งขึ้น
......น่าแปลกใจว่า เรื่องราวของเธอที่สัมผัสใจของผม กลับมิใช่เรื่องความเข้มงวดกับเวลาและวินัยในการกินยา


เพียงแสงพราวใจ ยามค่ำคืน”

“ชุ” มีลักษณะภายนอกที่ดูเป็น “สาวประเภทสอง” ชัดเจน เธออายุ 44 ปีแล้ว ปัจจุบันพักอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ มีทั้งพ่อและแม่ ซึ่งอายุกว่า 80 ปี พี่ชายขี้เมาอาละวาด 1 คน น้องชายที่พิการทางสมองอีก 1 คน และน้องสาวคนเล็กที่มีลูกติด 2 คน

ทั้งหมด 7 ชีวิต อาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกัน โดยมีรายได้ทางเดียวคือ จากน้องสาวคนเล็กที่เพิ่งมีแฟนใหม่เป็นชาวต่างชาติได้ไม่ถึงปี ทำให้น้องสาวคนนี้มีเงินส่งมาอุดหนุนครอบครัวเดือนละ 3,000 บาท

เธอออกจากบ้านตั้งแต่เรียนหนังสือจบชั้น ป. 4 ด้วยอายุเพียง 12 – 13 ปี พกพาเอาความเป็นคนหน้าตาดี สะสวยคล้ายลูกครึ่ง ตะเวรทำงานไปทั่ว และจบลงด้วยการให้บริการทางเพศที่ร้านคาราโอเกะแห่งนั้น... สถานที่ทำงานแห่งสุดท้าย...ก่อนที่จะมีอาการป่วยด้วยการไอออกมาเป็นเลือด ทำให้เธอไปตรวจรับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

ด้วยวัยเพียง 30 กว่า ๆ เธอก็พบว่าตนเองมีเชื้อเอชไอวี ทำให้เธอตัดสินใจกลับบ้านหลังจากที่ออกจากบ้านมานานกว่า 20 ปี

เธอพักรักษาตัว เก็บงำความลับไว้ในใจ แต่อยู่ได้เพียงช่วงเดียว ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจและการยังชีพ เธอตัดสินใจบากหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำอีกครั้ง และแน่นอนไม่มีที่ว่างอื่นใดให้เธอได้ทำงาน นอกจากงานบริการในร้านคาราโอเกะเช่นเดิม แต่คราวนี้อดทนทำงานอยู่ได้ไม่นาน อาการป่วยด้วยวัณโรคก็กำเริบหนักมากขึ้น เธอจึงต้องซมซานกลับมาบ้านด้วยสภาพร่างกายที่ทรุดโทรม

.......การกลับบ้านครั้งนี้ สภาพร่างกายของเธอช่างแตกต่างอย่างมากเมื่อเทียบกับคราวที่เธอจากบ้านไปด้วยวัยกำลังแรกรุ่น.........

เธอมาติดต่อขอรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน หลังจากได้รับการรักษาอาการวัณโรค ไปพร้อมๆ กับคำแนะนำให้ตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี เธอไม่ได้ปริปากบอกเจ้าหน้าที่ในสิ่งที่เธอรู้มาก่อนหน้านี้แล้วเกือบปี หลังจากรักษาอาการวัณโรคจนทุเลา เธอก็ได้เริ่มต้นรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในช่วงปลายปี 2546 เนื่องจากปริมาณภูมิคุ้มกันของเธอต่ำมาก

เธอเริ่มต้นด้วยสูตรยาพื้นฐาน GPO vir เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ทั่วไป เวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง แม้สุขภาพร่างกายจะดีขึ้น แข็งแรง มีเรี่ยวมีแรงสามารถทำงานบ้านได้ แต่สภาพภายนอกของร่างกายเธอก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน แก้มที่เคยตึงเปลี่ยนเป็นซูบลง จนปรากฏภาพแก้มที่ซูบตอบอย่างเห็นได้ชัด ช่วงปี 2550 เธอปรึกษากับหมอ และได้รับการปรับเปลี่ยนสูตรยาให้ใหม่ เป็น GPO-Z ที่เธอใช้มาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่แก้มของเธอก็ยังไม่คืนกลับสภาพเดิม

อะไร ๆ ในชีวิตเปลี่ยนแปลงไป เธอหยิบกระเป๋าสะตางค์สีดำ ขนาดเท่าฝ่ามือ ที่ลงเหลือเอาไว้เพียงเก็บรูป บัตรประจำตัวประชาชน และบัตรประจำตัวผู้ป่วยของโรงพยาบาล กับแบงค์ยี่สิบอีก 2 ใบ และเหรียญบาทอีก 2 – 3 เหรียญ เธอส่งรูปใบเล็ก 2 ใบให้ดูเปรียบเทียบ ว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยเป็นคนหน้าตาดี

“....อย่างตอนออกมาโรงพยาบาล หรือว่าออกมาหาเพื่อน ก็มีนิดนึง ก็มีทาแป้งแต่งหน้า ไม่ให้โทรม คือว่าให้ดูดีหน่อย ก็คงไม่เหมือนสมัยก่อนที่เราทำงานกลางคืน เราก็แต่งทุกวันอยู่แล้ว แต่พอมาอยู่บ้าน ปัญหาในบ้านมันเยอะเราก็ไม่สามารถแต่งได้.......

....ก็....มีความสุขที่สุด สายเดี่ยว สองเดี่ยว สามเดี่ยวก็ได้แต่ง... เดี๋ยวนี้ก็เสื้อผ้าเก่าก็เอามาใส่อยู่ แต่... ไม่เหมือนเดิม แต่ก่อนเราก็สวยเนอะ แขนเราก็เนียนขาวดูดี ทำไมเดี๋ยวนี้ตามเส้นเลือดมันพอง ไม่เรียวเหมือนเดิม ก็รู้อยู่แค่นั้น แต่ก็มีความสุข ได้แต่งได้ทาปาก...”


เธอมีจิตใจอยากเป็นสาวอยู่ตลอดเวลา แน่นอนเธอยังคงอยากแต่งสาวอยู่ และ
ใช้ช่วงเวลาค่ำมืดส่วนตัวของตนเองก่อนเข้านอน เติมความสว่างในจิตใจ...และเติมเต็มความต้องการนั้นให้กับตนเอง

“....เพราะว่าบางคนก็แต่งตัวสาว อย่าง “ดวงใจ” นี่ก็แต่งตัวเป็นสาวอยู่แล้วใช่มั้ย อย่างชุนี่ก็อยากแต่งตัวเป็นสาวอยู่ พูดถึงดวงใจ..เค้าก็เป็นผู้หญิงเต็มร้อยอยู่แล้วล่ะ แต่ว่าภายในบ้านทำให้เราแต่งตัวลำบาก เราอยากจะมีนมเหมือนกับเขา เราก็ทำไม่ได้ ขึ้นชื่อว่าอยากเป็นผู้หญิงนี่ทำได้ แต่งได้ แต่เราทำไม่ได้ อย่างการแต่งหน้าทาปากนี่ก็เหมือนกันก็ทำได้ลำบาก.........ทำได้ไม่เต็มที่ ไหนจะปัญหาเรื่องอยู่เรื่องกินใครจะมีความสุขล่ะ...

....บางทีก็แต่งนะ ตอนกลางคืนแต่งได้นอนหมอน ตื่นขึ้นมาก็ล้างออก แต่งให้ตัวเองดูว่าตัวเองสวยแล้วมีความสุข มีความสุขทำไปเถอะ ไม่เดือดร้อนคนอื่น ทำไป...”


เธอดูเป็นคนแกร่ง แม้ใบหน้าจะเปื้อนริ้วรอยของความเหนื่อยล้า ปะปนกับผลข้างเคียงอันเกิดจากฤทธิ์ของตัวยาที่ใช้ในการรักษาอย่างเห็นได้ชัด สุขภาพเธอแข็งแรง มีเพียงจิตใจของเธอที่ว้าวุ่นเป็นระยะ ๆ เธอบอกว่า ชีวิตต้องเผชิญกับปัญหาในการดำรงชีพ และภาระในการดูแลน้องชายอยู่ที่บ้านทุกวัน

“....ปัญหาเรื่องชีวิตประจำวัน ค่าใช้จ่ายและก็ปัญหาอื่น ๆ ภายในบ้าน ถ้าเกิดว่าในอนาคตสักวันนึงพ่อเขาไม่ได้อยู่กับเราแล้ว เขาไปแล้ว แต่น้องคนนี้เขายังไม่ตาย..จะไม่ตกเป็นภาระของเราเหรอ เราเองเราก็ย่ำแย่อยู่แล้ว ทำไมเราต้องมารับภาระตรงนี้อีก เราจะปล่อยทิ้งหรือว่าปฏิเสธ มันก็ไม่มีใครทำแล้ว มีตัวเราอยู่คนเดียวที่ทำอยู่ตอนนี้ แต่ตอนนี้ก็ยังดีมีพ่อช่วยอยู่ บางสิ่งบางอย่างมันเลอะกางเกงอยู่ ก็ล้างออกเสีย แล้วบิดให้มันแห้ง แล้วเอาไปใส่ถังเครื่องซักผ้าเสีย เราก็พอทำได้ เกิดว่าวันนั้นว่าเขาไม่อยู่ เขาก็แปดสิบกว่าแล้วเนอะ ทำงัยล่ะ ถ้าเกิดว่าน้องชายคนนี้ยังไม่ตาย เราทำงัย......

.......น้องนี่แหละหนักที่สุดช่วงนี้ ตัวเองนี่ตัดปัญหาออกไปเลย เพราะว่าช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง ตั้งแต่มากินยากับกลุ่ม......... ก็ช่วยตัวเองได้ทุกอย่าง สามารถทำงานได้ทุกอย่าง ผ่าฟืน นึ่งข้าว ทำอาหาร ทำอะไรการกินได้ทุกอย่าง เพราะว่าโรคพวกนี้ใช่ว่ามันจะติดกันง่ายๆ ใช่มั้ย แต่ที่หนักที่สุดเสียสุขภาพจิตที่สุดคือน้องชาย พูดง่ายๆ ว่าน้องชายนี่แก้ปัญหาอย่างไร ตัวเองก็ยังพอมีปัญญาบ้าง........”


ช่วงแรก ๆ ที่เข้ามารับบริการตรวจเลือดที่โรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา เจ้าหน้าที่แนะนำเธอว่า ที่นี่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหมือนเธอรวมกลุ่มกันอยู่ ทำให้เธอเริ่มมอง เริ่มสังเกต และลองเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม จากนั้นเธอก็กลายเป็นแฟนพันธุ์แท้ของกลุ่มมาจนถึงปัจจุบัน

“....มาไม่เคยขาด โดยเฉพาะตัวชุเองนะ คนอื่นไม่รู้ โดยชุจะนับวันรอ วันไหนจะมีกิจกรรมกลุ่ม จะได้มาโรงพยาบาล เพราะว่าจะได้ออกจากบ้าน ใจไม่เคยอยู่กับบ้านเลย ที่อยู่เพราะว่าทนฝืนอยู่ คือมันหลีกไม่ได้ที่จะไปที่อื่น ถึงจะหลีกปัญหาไปที่อื่น ปัญหามันก็อยู่กับเราอีก มันไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดี แต่ที่ออกมาวันหนึ่งชั่วโมง ขอให้เรามีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ เราก็พอใจ นรกมันก็เบาบางขึ้น...........”

แต่แม้ว่ากลุ่มจะมีความสำคัญกับเธอมากเพียงใดก็ตาม เธอก็เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเรื่อยมา คนเข้ามาร่วมกิจกรรมกลุ่มน้อยลง เพราะทุกคนสุขภาพแข็งแรงขึ้นก็มีภาระหน้าที่ในชีวิตที่ต้องดำเนินไป เธอพูดถึงกลุ่มว่า

“....มันก็ดีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับผู้ติดเชื้อมากกว่า เพราะผู้ติดเชื้อตอนที่โทรมเข้ามาใหม่ๆ เขาก็จะเชื่อฟังตามหมอทุกอย่าง แต่พอมีแรง เขาก็ไปทำงานหากิน เขาก็ไป จากการที่ว่ากลุ่ม.........ที่มีความสามัคคี ที่สุด มันก็จะด้อยลงไปตรงที่ว่า เขามีแรงไปทำงานแล้ว ใครเขาจะมาอยู่รอวันเข้ากลุ่มอย่างเดียวล่ะ เขาก็ต้องทำมาหากิน อันนั้นก็เข้าใจเขา เข้าใจทางโรงพยาบาล เข้าใจทางกลุ่มด้วย เพราะว่ามันก็ต้องเป็นวิถีชีวิตของคนอยู่แล้ว ก็ต้องไปทำนองนั้นอยู่ เพราะว่าเงินเลี้ยงชีพ (เบี้ยยังชีพ) ถ้าพูดไปแล้ว ก็เหมือนขอทาน ถ้าเราไม่จำเป็นจริง เราก็ไม่อยากจะเอา ไม่อยากจะขอเหมือนกันแหละ ถ้าเรามีงานอื่นๆ ทำ ถ้าเราไม่มีภาระทางบ้านต้องดูแลพ่อแม่ ก็อยากไปหาทางอื่น ไม่อยากได้หรอกเงินพวกนี้ แต่ที่เอาเพราะว่าไม่มีอะไรที่จะนั่นอยู่ อย่างชุนี่ต้องเอา เพราะว่ามันไม่มีรายได้อื่นเลย ชุต้องเอา ถึงคนจะเปรียบเปรยว่าเหมือนขอทานก็ต้องยอมรับสภาพ เพราะว่าอย่างน้อยก็เป็นขอทานกิตติมศักดิ์ เราไม่ถือขันไปตามข้างสะพานลอย เราจำเป็นต้องเอา....”


การสัมภาษณ์พูดคุยจบไปแล้ว เธอบอกว่า “พี่มาคุยแบบนี้ ก็ช่วยอะไรชุไม่ได้หรอก” ชีวิตของเธอยังคงดำเนินต่อไป เธอกล่าวทิ้งท้ายว่า

“.....ไม่ได้ท้อเพราะว่า ไม่เหมือนเดิม คนอื่นก็ใช่ว่าจะหามาให้เรากินใช่มั้ย ขอให้ใจเราสวยก็พอ ถึงแม้หน้าจะไม่สวยเหมือนเดิม ขอให้ใจเราสวยเหมือนเดิม ถึงเราจะไปแคร์ความรู้สึกในสายตาคนอื่นเขา ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะหาอะไรให้เรากิน เราจะแคร์คนที่หาอะไรให้เรากิน เราจะรักษาน้ำใจกับคนที่เขาหยิบยื่นให้เรา อย่างเช่นน้องคนที่เขาหยิบยื่นให้เรา เขาพูดอะไรก็ไม่อยากขัดใจเขา เพราะว่าเขาดีกับเรา แต่คนอื่น เขาไม่ได้หยิบยื่นให้เรานี่ เราจะไปสนใจทำไม.....

......เรื่องการรักษานี่มันรักษาได้ ไม่ต้องไปคิดสั้นอะไร ทุกอย่างมันขึ้นอยู่ที่กำลังใจ มันจะหนักจะเบา แต่จะพูดไปแล้วมันเท่ากันหมด มันขึ้นอยู่กับใจมากกว่า ก็เป็นตัวยาชนิดหนึ่งเหมือนกันนะกำลังใจ กำลังใจเป็นตัวยาชนิดเอก ตัวยาเป็นตัวเสริมให้เรามีกำลังใจขึ้น เป็นตัวเสริมตัวยา แต่ที่นี้กำลังใจมาอันดับหนึ่ง ถ้าคนหนักขนาดไหน ถ้ากำลังใจเต็มร้อย คิดว่าต้องฟื้นกันทุกคน ทุกคนถ้าใจห่อเหี่ยว ปลงตกกับชีวิต คือคนนั้นแม้จะมียาวิเศษขนาดไหนก็ไม่สามารถทำให้ตัวเองอยู่รอดได้ จะไปทุกคน....”


ขอบคุณมากครับชุที่คุยด้วย